1    2

 

        อาหาร 
          พะยูน เป็นสัตว์กินพืชโดยกินหญ้าทะเลเป็นอาหารหลัก จากการศึกษาพบว่าพะยูนในประเทศไทยชอบกินหญ้าทะเล 3 ชนิด คือ หญ้าทะเลใบกลม (
Halophila  ovalis )  หญ้าเต่า  (Thalassia hemprichii  )  หญ้าชะเงาใบสีน้ำตาล (Cymodocea rotundata  )  แต่ก็มายงานว่า ในมหาสมุทรแปซิฟิกบางแห่งพบว่า พะยูนกินหอยขนาดเล็กบ้าง แต่ไม่มากนัก และไม่ใช่อาหารหลัก เข้าใจว่าคงปะปนไปกับหญ้าทะเลที่กลังถูกดุนกัดกินอยู่ตามพื้นทะเลนั่นเอง
          พะยูนดำน้ำลงกินหญ้าทะเล และจะโผล่ขึ้นมาหายใจทุก 1-3 นาที  โดยใช้เวลาหายใจบนผิวน้ำสั้นมากเพียง 2-3 วินาทีต่อครั้ง 



พะยูนและลูก อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม

 พะยูนออกหากินทั้งกลางวันและลางคืน โดยใช้เวลาหากินวันละ 15-20 ชั่วโมง เพื่อให้ได้ปริมาณอาหารประมาณ 25-30 กิโลกรัม ต่อวัน  การกินหญ้าทะเลของพะยูนกระทำโดยการใช้ริมฝีปากที่หนาและแข็งแรงดุนกินลำต้นหรือหัวของหญ้าทะเล  ซึ่งฝังอยู่ใต้พื้นทราย เช่นเดียวกับการขุดหรือดุนหาอาหารของหมู่ จึงทำให้พะยูนมีชื่อไทยอีกชื่อหนึ่งว่า "หมูน้ำ"  และด้วยพฤติกรรมการกินหญ้าเหมือนวัว จึงมีชื่อภาษาอังกฤษว่า "Sea cow"   

 

         การสืบพันธุ์
          พะยูนไม่มีฤดูกาลสืบพันธุ์ที่แน่นอน  วัยเจริญพันธุ์หรือความพร้อมเพื่อสืบพันธุ์อยู่ในราว 8-18 ปี เมื่อพะยูนทั้งเพศผู้และเพศเมียผสมพันธุ์กันแล้วจะใช้เวลาตั้งท้อง 11 เดือน (บางรายงาน 13-15 เดือน)  โดยปกติแล้ว แม่พะยูนให้กำเนิดลูกครั้งละ 1 ตัว แต่ก็มีบางครั้งที่ออกเป็นลูกแฝด  ลูกพะยูนจะอยู่กับแม่เพื่อกินนมเป็นเวลา 2 ปีจึงหย่านม  ซึ่งตลอดระยะเวลาพะยูนพะยูนตัวที่เป็นพ่อจะยังคงช่วยเลี้ยงลูกด้วย  แต่ก็มีรายงานส่วนหนึ่งกล่าวว่า พะยูนเพศผู้มักไม่ช่วยเลี้ยงลูก เพียงแต่ทำหน้าที่ผสมพันธุ์แล้วก็แยกย้ายกันไป
 

          พะยูนเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหรืออกลูกเป็นตัว จึงมรระบบรกเพื่อช่วยส่งเลือดไปเลี้ยงตัวอ่อนในมดลูก  แต่เนื่องจากความที่ต้องอาศัยอยู่ในน้ำ  ทำให้มีวิวัฒนาการของรกเป็นแบบไม่หลุดออก (Nondeciduous placental)  เพื่อป้องกันมิให้เสียเลือดออกไปมากขณะคลอดลูกในน้ำ  อีกทั้งการแข็งตัวของเลือดเป็นไปอย่างรวดเร็วมากเพื่อช่วยป้องกันการเสียเลือดอีกทางหนึ่ง  ลูกอ่อนที่ออกมาจะเกาะดูดนมจากเต้านมของแม่  ตรงตำแหน่งหน้าอกใต้ครีบอกทั้งสองข้าง  โดยแม่พะยูนอาจว่ายน้ำเอียงตัวให้ก่อนพร้อมทั้งใช้ครีบอกช่วยพยุงประคองลูกอ่อนไว้  จนเมื่อลูกแข็งแรงสามารถดูดนมได้เองจากด้านล่างขณะว่ายน้ำ ตลอดช่วงอายุของพะยูนเพศเมีย ซึ่งยาวกว่า 50-55 ปีนั้น สามารถให้ลูกได้เพียง 5-6 ตัว และนี่คงเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้พะยูนใกล้สูญพันธุ์ง่ายขึ้น

            พฤติกรรมอื่นๆ
          พะยูนสามารถซ่อนเร้นแฝงตัวในแนวหญ้าทะเลได้ด้วยการลอยตัวสงบนิ่ง  โผล่เพียงรูจมูกทั้งคู่ที่อยู่ในตำแหน่งด้านบนขึ้นมาหายใจเหนือผิวน้ำ  โดยมิต้องโผล่ขึ้นมาหายใจทั้งหัวหรือทั้งตัวเลย อีกทั้งผิวสีเทาที่กลมกลืนกับสภาพแวดล้อมทำให้ศัตรูมิอาจเห็นพะยูนได้ชัดเจนนัก ลูกพะยูนมักว่ายน้ำเกาะหลบอยู่บนหลังแม่เมื่อมีภัยมา  ทั้งนี้เพราะภัยส่วนใหญ่มาจากทางด้านล่าง เช่น การโจมตีของฉลาม

 

 

 

           พะยูนอยู่กันเป็นฝูง ตั้งแต่กลุ่มเล็กๆ 2-3 ตัวไปจนถึง 60 ตัว เป็นการรวมฝูงกันทั้งเพศผู้ เพศเมีย และลูกอ่อน  บางครั้งการรวมตัวเป็นฝูงใหญ่เกิดขึ้นเมื่อมีศัตรูเข้ามารุกราน  และในบางกรณีก็ออกหากินเดี่ยวกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป  ซึ่งอาจเนื่องมาจากการสื่อสารระหว่างพะยูนด้วยกันไม่ดีนัก  มันจึงอยู่รวมกันไม่ค่อยได้
          พะยูนใช้แพนหางเป็นหลักเพื่อโบกพัดน้ำในการเคลื่อนที่ ส่วนครีบอกทั้งสองข้างจะถูกหุบเข้าแนบชิดตัวเสมอ แต่จะกางออกเพื่อใช้ค้ำยันในการเคลื่อนที่ขณะหาอาหารกินบนพื้นทรายเพียงเล็กน้อย พะยูนสามารถเคลื่อนที่ใต้น้ำด้วยความเร็วราว 8-10 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่หากตกใจหรือหนีศัตรูก็สามารถเร่งความเร็วเป็น 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมงได้
          จากเหตุที่พะยูนเป็นสัตว์ที่ไม่มีอวัยวะใดๆ ในการต่อสู้ป้องกันตัว และมีข้อจำกัดในเรื่องของการสืบพันธุ์และอาหารการกิน  จึงเป็นเหตุให้จำนวนประชากรของพะยูนมีอยู่ไม่มากนัก สมทบกับปัญหาแหล่งอาหารของพะยูน ซึ่งก็คือ แหล่งหญ้าทะเล กำลังถูกคุกคามและลดจำนวนลงเรื่อยๆ  และปัญหาของการติดอวนของชาวประมง ทำให้พะยูนไม่สามรถขึ้นมาหายใจบนผิวน้ำได้ พะยูนเป็นจำนวนมากต้องสูญเสียชีวิตลงภายในอวนประมงเหล่านั้น  ในปัจจุบันจำนวนของพะยูนทั่งโลกจึงลดลงเรื่อยๆ และความรู้ความเข้าใจของมนุษย์ที่ต่อการดำรงชีวิตของพะยูนก็มีอยู่อย่างจำกัด เราจึงควรต้องรีบดำเนินการใดๆ  เพื่อให้พะยูนและลูกน้อยสามารถดำรงเผ่าพันธุ์ของตนไว้คู่กับมนุษย์เราได้ต่อไป