หลักการวาดภาพทางวิทยาศาสตร์

bot-ill-4.jpg (104070 bytes) bot-ill-5-1.jpg (110563 bytes) bot-ill-8-1.jpg (119700 bytes)

          
          การเสนอข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ทำได้หลายรูปแบบ เช่น ในรูปของตัวเลข ตาราง สถิติ และบรรยาย เป็นต้น แต่การนำเสนอด้วยภาพเป็นวิธีที่สามารถอธิบายรายละเอียดของข้อมูลได้อย่างชัดเจน ช่วยให้นักวิทยาศาสตร์สื่อสารกันได้ โดยปราศจากอุปสรรคทางภาษา การสร้างภาพทางวิทยาศาสตร์จึงต้องทำอย่างถูกต้อง แม่นยำ วัดขนาดอย่างละเอียด ตรงไปตรงมา นอกจากนั้นยังต้องมีสมดุล สวยงามตามหลักองค์ประกอบศิลป์เพื่อให้ภาพดูมีชีวิตชีวา และมีเสน่ห์ ทำให้ผู้อ่านเห็นภาพชัดเจน และจดจำภาพนั้นได้ การวาดภาพวัตถุทางวิทยาศาสตร์นั้น ต่างจากการวาดภาพทางศิลปะ เพราะจะไม่มีการตกแต่งดัดแปลงแบบให้ดูสวยงามเกินจริง วัตถุที่ใช้เป็นแบบวาดได้ถูกออกแบบมาแล้วโดยธรรมชาติ ผู้วาดเพียงมีหน้าที่ถ่ายทอดภาพออกมาให้ถูกต้องเหมือนจริงเท่านั้น
          ภาพวาดทางวิทยาศาสตร์มีข้อได้เปรียบภาพถ่าย ในทางธรรมชาติวิทยาแล้ว ภาพวาดสามารถแสดงกายวิภาค และสัณฐานที่ช่วยในการระบุชนิดสิ่งมีชีวิตได้ เพราะในขณะที่ภาพถ่ายเป็นตัวแทนของสิ่งมีชีวิตเพียงหน่วยเดียว ( individual) ภาพวาดสามารถประมวลลักษณะหลายๆ หน่วยในแต่ละชนิดได้สมบูรณ์กว่า นอกจากนี้ภาพวาดที่ดีสามารถแสดงรายละเอียดของชั้นเซลล์ เนื้อเยื่อ และอวัยวะที่ทับซ้อนกัน สามารถเน้นรายละเอียดที่สำคัญ หรือประกอบชิ้นส่วนที่แตกหัก หลุดออกจากกันลงบนกระดาษ รวมทั้งจัดวางหลายๆ ชิ้นส่วน หลายมุมมองเข้ามาอยู่ในกรอบภาพเดียวอย่างลงตัว อย่างที่กล้องถ่ายภาพทำไม่ได้ และแม้ว่าความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี จะทำให้เราสามารถถ่ายภาพจากกล้องจุลทรรศน์ กล้องจุลทรรศน์อิเลกตรอน และสามารถสร้างภาพด้วยคอมพิวเตอร์ได้แต่ก็จำเป็นต้องการตีความ โดยอาศัยผู้เชี่ยวชาญก่อนที่จะเสนอผล ส่วนภาพวาดสามารถอธิบายขยายความได้โดยไม่ต้องมีการแปล ภาพวาดจึงยังคงมีความสำคัญต่อการแสดงผลทางวิทยาศาสตร์ไม่เสื่อมคลาย
          นักวาดภาพทางวิทยาศาสตร์ที่ดี ควรมีความรู้เรื่องโครงสร้างของสิ่งที่วาด มีข้อมูลพื้นฐานของตัวอย่างนั้นๆ และรู้จักเทคนิคที่เหมาะสมในการนำเสมอ ผู้ถ่ายทอดภาพทางวิทยาศาสตร์ควรมีความสนใจทางศิลปะ และมีความรู้ทางวิทยาศาสตร์พอสมควร เพื่อให้สามารถประยุกต์ข้อเท็จจริง เข้ากับความคิดสร้างสรรค์ได้อย่างกลมกลืน เพราะภาพเพื่องานทางวิทยาศาสตร์ไม่เพียงต้องมีความสวยงามชวนดูเท่านั้น แต่ยังต้องให้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ได้มากที่สุด และถูกต้องที่สุดอีกด้วย