Home   I  ห้องสมุด

          
       ครั้งหนึ่ง
ยังมีขุนนางผู้หนึ่ง คอยรับใช้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทองค์พระเจ้าแผ่นดิน ท่านขุนนางเป็นผู้ที่มีความสามารถและสัตย์ซื่อต่อแผ่นดิน ลูกน้องก็ล้วนแต่รักใคร่
          เมื่อท่านขุนนางถึงเวลาเกษียณอายุราชการ พระเจ้าแผ่นดินทรงพระราชทานไข่มุกเม็ดงามและหายากมากให้แก่ท่านขุนนาง 1 เม็ด พร้อมกับรับสั่งให้เก็บรักษาไข่มุกไว้ให้ดี ท่านขุนนางดีใจมากพลางคิดในใจว่า
          " เราจะต้องเก็บรักษาไข่มุกเม็ดนี้ไว้เท่าชีวิต จะไม่ยอมให้บุบสลายหรือเปรอะเปื้อนเลยแม้แต่น้อย " แล้วท่านขุนนางก็ทูลลากลับไปยังที่อยู่ของตน
          หลังจากกลับมาถึงบ้านแล้ว ท่านขุนนางก็นำไข่มุกให้ภรรยาและบุตรดูเป็นบุญตา
          "โอโฮ! ไข่มุกเม็ดงามจริงๆ นะพี่ คงจะหายากมากนะ" ภรรยาท่านขุนนางชื่นชมในความงามของไข่มุกมาก
          "แน่ละสิ ก็ฉันเป็นขุนนางที่ซื่อสัตย์ รับใช้แผ่นดินมานาน พระเจ้าอยู่หัวท่านก็ทรงเมตตา จึงพระราชทานมาให้เป็นบุญของพวกเราจริวๆ " ครอบครัวของท่านขุนนางปลาบปลื้มใจกันมาก
          ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา บรรดาเพื่อนและคนรู้จักกับท่านขุนนางก็พากันมาขอชมไข่มุกเม็ดงามกันมากมาย
          "ได้ข่าวว่าท่านได้รับพระราชทานไข่มุกมา ขอให้พวกฉันได้ชมเป็นบุญตาบ้างสิ เกิดมายังไม่เคยเห็นเลย ได้ไหม? "  ท่านขุนนางไม่สามารถปฏิเสธคำขอร้องของเพื่อนๆ ได้ แต่ก็ยอมให้ดูแต่ห่างๆ และไม่ยอมให้ใครแตะต้องไข่มุกแม้แต่น้อย
          จนกระทั่งวันหนึ่ง หลานชายคนเดียวของท่านขุนนางชื่อนวลเดินทางมาจากบ้านนอกเพื่อเยี่ยมเยียนท่านขหุนนาง และอยากให้ท่านขุนนางช่วยฝากตัวเข้ารับราชการอีกด้วย นวลเป็นคนมีความรู้และมีความสามารถ ทั้งยังเป็นคนซื่อสัตย์ อยากทำตัวให้เป็นประโยชน์ต่อบ้านเมือง จึงคิดที่จะเป็นขุนนาง
          " เป็นอย่างไรบ้างหลานชาย ไม่ได้พบกันเสียนาน พ่อกับแม่ของหลานสบายดีหรือ? ไม่เห็นส่งข่าวมาบ้างเลย"  ท่านขุนนางรู้สึกดีใจมากที่หลานชายมาเยี่ยม เพราะไม่ได้พบกันมานาน และท่านขุนนางก็รักหลานชายคนนี้มาก
          " พ่อกับแม่ของหลานสบายดีขอรับ ท่านฝากความระลึกถึงมายังคุณลุงด้วยขอรับ"
          "ขอบใจมากนะหลาน มากคราวนี้อยู่กับลุงนานๆ หน่อยนะ "  ท่านขุนนางต้อนรับหลานชายอย่างดี
          เมื่อได้โอกาส นวลจึงเกริ่นเรื่องที่ตนอยากรับราชการกับท่านขุนนาง
          " คุณลุงขอรับ หลานอยากเป็นขุนนาง ทำงานรับใช้แผ่นดิน หลานอยากให้คุณลุงช่วยกรุณาฝากหลานเข้ารับราชการด้วยขอรับ"
          " หลานอยากเป็นขุนนางจริงๆ หรือ ลุงดีใจมากที่หลานคิดเช่นนี้ ลุงเต็มใจช่วยหลานอย่างเต็มที่ เอาละ! วันนี้เราต้องมาฉลองกันหน่อยนะ แล้วลุงก็มีของมีค่าชิ้นหนึ่งจะให้หลานดูด้วย"
          ท่านขุนนางจัดอาหารและสุรามาเลี้ยงนวล และนำไข่มุกเม็ดงามออกมาให้ดูอย่างใกล้ชิด ดื่มเหล้าพลางก็คุยกันไป จนเมาหลับไปด้วยกันทั้งคู่ ไข่มุกที่ท่านขุนนางถืออยู่ในมือก็หลุดตกลงไปในรอยแยกของฝากระดาน ลงไปอยู่ในช่องรอยแยกนั้น
          เช้าวันรุ่งขึ้นเมื่อท่านขุนนางตื่นขึ้นมาก็ไม่พบนวล ทันใดนั้นก็นึกถึงไข่มุกที่นำออกมาเมื่อวาน แต่หาเท่าไรก็หาไม่พบ จึงคิดว่านวลต้องเป็นผู้ขโมยไปอย่างแน่นอน
          " เจ้านวลมันกล้าขโมยไข่มุกของฉันเชียวหรือนี่ เจ็บใจจริงๆ ต้องจับมันกลับมาให้ได้ " ท่านขุนนางโกรธมาก สั่งบ่าวไพร่ในบ้านให้ออกตามหาตัวนวล พวกบ่าวไพร่พบนวลอยู่ในตลาด จึงช่วยกันจับตัวกลับมาให้ท่านขุนนางจนได้
          " แกกล้ามากนะที่มาขโมยไข่มุกของฉัน เอามาคืนฉันเดี๋ยวนี้นะ แล้วฉันจะไม่เอาเรื่องแก"  ท่านขุนนางยังมีความเมตตาต่อนวลอยู่
          " หลานไม่ได้ขโมยไปนะขอรับ คุณลุงเชื่อหลานสิขอรับ"   นวลตกใจมากที่ถูกหาว่าเป็นขโมย พยายามอธิบายให้ท่านขุนนางเชื่อ แต่ท่านขุนนางไม่ยอมฟัง จึงจับนวลไปขังคุก
          ภรรยาท่านขุนนางไม่เชื่อว่านวลจะเป็นขโมย แต่ไม่ว่าจะพูดอย่างไรท่านขุนนางก็ไม่ยอมฟัง เพราะความโกรธและเสียดายของ ดังนั้นภรรยาท่านขุนนางกับลูกจึงช่วยกันค้นหาในห้องที่ท่านขุนนางหยิบไข่มุกออกมา ค้นกันอยู่เป็นเวลานานจนเริ่มท้อใจ  บังเอิญภรรยาท่านขุนนางมองไปพบรอยแยกบนฝากระดานเรือน จึงเดินเข้าไปมองใกล้ๆ
          "อยู่นี่เอง! นวลไม่ได้ขโมยไปจริงๆ นั่นแหละ โชคดีจริงๆ ที่พบจนได้ "  นางรีบนำไข่มุกไปให้ท่านขุนนาง เพื่อจะได้ปล่อยตัวนวลออกมาจากคุก
          ท่านขุนนางเสียใจมากที่เข้าใจผิด คิดว่าหลานเป็นคนขโมย หลังจากที่ปล่อยนวลออกมาจากคุกแล้ว ท่านขุนนางก็ได้กล่าวคำขอโทษต่อนวล  ซึ่งนวลก็ไม่ได้คิดโกรธท่านขุนนางเลยแม้แต่น้อย ต่อมาภายหลัง นวลได้เป็นขุนนางที่ซื่อสัตย์ดังใจหวัง และเป็นที่รักใคร่ของชาวบ้านมาก
 

           คนดีมีความสามารถอย่างท่านขุนนาง ทำเรื่องผิดพลาดขึ้นเพราะสุราเป็นเหตุ เมื่อของรักหายไป ด้วยความโกรธจึงโทษนวล หาว่าเป็นคนขโมย ตรงกับสำนวนไทยว่า  ของหายตะพายบาป คือ ตนเองเป็นคนทำของหาย แต่กลับไปโทษคนอื่น หากหาไข่มุกไม่พบ ท่านขุนนางจะต้องทำความผิดมากขึ้นไปอีกแน่นอน เห็นไหมคะ คนเราเมื่อขาดสติ ก็มักทำไม่สมควรเสมอละค่ะ และเรื่องนี้ก็เป็นอุทธาหรณ์ให้กับอีกหลายๆ เรื่องในสังคม

** นำมาจากหนังสือนิตยสารคุณค่าสำหรับเด็ก ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2535  ตอนเด็กๆ ยายเม้าเคยได้ยินปู่ย่าตายายมักพูดคำนี้บ่อยๆ  ฟังแล้วก็ไม่เข้าใจความหมาย ครั้นโตขึ้นก็เริ่มพอเข้าใจบ้าง  เมื่อได้พบนิทานเรื่องนี้จากหนังสือ ถูกใจมาก เห็นว่ามีประโยชน์ จึงนำมาเล่าให้เด็กๆ ฟังค่ะ