การอนุรักษ์แมลงในประเทศไทย

ห้องสมุด

๑๓ แมลงอนุรักษ์

กลับหน้าหลัก


          ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีทรัพยากรธรรมชาติทางด้านแมลงอย่างอุดมสมบูรณ์ทั้งชนิดและปริมาณ แมลงต่างๆ เหล่านี้มีความหลากหลายในรูปลักษณะ สีสัน บางชนิดมีรูปร่างแปลกและสีสวยงาม เป็นที่ต้องการเสาะแสวงหาของนักสะสมแมลงเพื่อไว้เป็นสมบัติของตัวเอง หรือ ซื้อขายแลกเปลี่ยน ดังนั้นจึงมีการล่าจับแมลงกันมากเพื่อประโยชน์ทางการค้า จากการที่มีธุรกิจการค้าแมลงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้น่าเป็นห่วงว่าแมลงจะถูกจับไปเป็นจำนวนมากจากสภาพแวดล้อมปกติของมัน ซึ่งแมลงกำลังถูกคุกคามท่าด้านอื่นๆ อย่างหนักอยู่แล้ว เช่น การตัดไม้ทำลายป่าทำให้ปริมาณแมลงลดน้อยลง เนื่องจากสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมในการแพร่พันธุ์ตามธรรมชาติได้ถูกทำลายไป กับทั้งยังมีการล่าจับแมลงเพื่อเป็นการค้ามากยิ่งขึ้น อาจทำให้แมลงบางชนิดที่มี่มีปริมาณน้อยอยู่แล้วในธรรมชาติสูญพันธุ์ไปได้ ดังนั้นจึงได้ดำเนินการอนุรักษ์แมลง โดยเฉพาะแมลงที่สวยงามและหายากเพื่อไม่ให้สูญพันธุ์ไปจากประเทศไทย



ปัญหาเกี่ยวกับการจับและการค้าแมลง

ในการอนุรักษ์แมลงนั้น จำเป็นต้องหามาตรการในการควบคุมและแก้ไข ในปัญหาที่เกี่ยวข้อง 2 ประการ คือ ในด้านการจับแมลงและด้านการค้าแมลง ในด้านการจับแมลงนั้นส่วนใหญ่ไปจับในแหล่งที่มีแมลงมาก ได้แก่เขตป่าอนุรักษ์ต่างๆ เช่น เขตอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ซึ่งเป็นแหล่งอาศัยและแพร่พันธุ์ตามธรรมชาติของแมลงได้เป็นอย่างดี จึงมีการลักลอบเข้าไปจับแมลงในป่าอนุรักษ์เสมอ สำหรับเรื่องการค้าแมลงนั้น แมลงที่นำมาค้าเกือบทั้งหมดเป็นแมลงที่จับมาจากแหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติของมัน ส่วนที่ได้จากการเพาะเลี้ยงนั้นมีน้อยมากหรือไม่มีเลย ผู้ค้ารับซื้อแมลงจากชาวบ้านในราคาถูก แต่นำมาจำหน่ายในราคาสูง นอกจากทำการค้าในประเทศแล้ว ยังมีการส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศด้วยตามใบสั่งลูกค้า หรือส่งบัญชีรายชื่อแมลงและราคาไปยังกลุ่มพ่อค้าแมลงในต่างประเทศเพื่อให้พิจารณาสั่งซื้อ ธุรกิจการส่งแมลงไปจำหน่ายต่างประเทศนั้นทำรายได้อย่างมหาศาลให้แก่ผู้ค้า ประเทศไทยต้องสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติทาด้านแมลงไปเป็นจำนวนมาก



การกำหนดชนิดแมลงอนุรักษ์
จากปัญหาดังที่ได้กล่าวมาแล้วทำให้น่าเป็นห่วงว่า แมลงที่สวยงามซึ่งมีการจับและการค้ามากนั้น จะมีปริมาณลดน้อยลงไปมากจากสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติของมัน และบางชนิดอาจสูญพันธุ์ไปได้ ดังนั้นจึงได้ทำการศึกษาหาแนวทางการอนุรักษ์แมลงเหล่านี้ขึ้น หลักเกณฑ์ในการกำหนดชนิดมแลงอนุรักษ์มีดังนี้
1. เป็นแมลงในกลุ่มที่มีการจับเพื่อการค้ามาก ซึ่งได้แก่พวกด้วงและผีเสื้อ
2. เป็นแมลงที่หายาก โดยพิจารณาดูว่า แมลงพวกด้วงและผีเสื้อที่มีตัวอย่างเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์แมลงของกรมวิชาการเกษตรนั้น ชนิดใดเป็นชนิดที่หายาก โดยเป็นชนิดที่จับได้เมื่อ 30-40 ปีมาแล้ว แต่ต่อมาสำรวจไม่พบแลงชนิดนั้นอีก หรือพบแต่มีปริมาณน้อยมาก จัดว่าเป็นแมลงที่หายาก
3. เป็นแมลงที่มีอยู่ในบัญชีรายชื่อในอนุสัญญา CITES (Convention on International Trade in Endangered Spicies of Wild Fauna and Flora) หรืออนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการค้า ซึ่งพืชป่าและสัตว์ป่าที่กำลังสูญพันธุ์ ในบัญชีหมายเลข2 ของอนุสัญญานี้มีราชื่อแลงที่พบในประเทศไทยด้วย 3 รายการ คือ ผีเสื้อภูฐาน ( Bhutanitis spp.) ผีเสื้อไกเซอร์ ( Teinopalpus spp.) และผีเสื้อถุงทอง( Troides spp.) ดังนั้นในการกำหนดชนิดของแมลงอนุรักษ์จึงได้กำหนดแมลงทั้ง 3 รายการนี้เข้าไปด้วย


สรุปแนวทางการอนุรักษ์แมลง

1. กำหนดชนิดของแมลงให้เป็นสัตว์ป่าสงวนหรือคุ้มครองเพิ่มเติม
2. ป้องกันการลักลอบจับแมลงในเขตป่าอนุรักษ์
3. ควบคุมการส่งแมลงออกไปต่างประเทศ
4. ส่งเสริมการเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์แมลงที่อนุรักษ์
5. สร้างจิตสำนึกในด้านการอนุรักษ์
แมลงมีชีวิตความเป็นอยู่ได้หลายรูปแบบตามสภาพแหล่งอาศัยต่างๆ กัน มีทั้งชนิดที่มีอยู่อย่างโดดเดี่ยวตามลำพังหรืออยู่รวมกันเป็นกลุ่ม มีสังคมของมันเอง มีทั้งชนิดที่เป็นประโยชน์และให้โทษ แต่อย่างไรก็ตามแมลงมีส่วนสำคัญในระบบนิเวศวิทยา ทำให้ธรรมชาติอยู่ในสภาวะสมดุล นอกจากนี้ความสวยงามของแมลงยังมีส่วนช่วยทำให้โลกสดใสน่าอยู่ขึ้น จึงสมควรอนุรักษ์แมลงไว้ โดยเฉพาะแมลงที่สวยงามและหายากไม่ให้สูญพันธุ์ไปจากประเทศไทย เป็นการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไว้

 

 

ที่มาของข้อมูล :  กองกีฏและสัตววิทยา กรมวิชาการเกษตร