จำปีสิรินธร
Magnolia sirindhorniae
Noot. & Chalemglin

ประวัติการค้นพบ

ดร.ปิยะ เฉลิมกลิ่น ผู้ค้นพบ

       
          ผู้เขียนได้เข้าไปสำรวจพื้นที่บ้านซับจำปา ต.ซับจำปา อ.ท่าหลวง จ.ลพบุรี เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2541 ซึ่งเป็นป่าพรุน้ำจืด มีพื้นที่ประมาณ 80 ไร่ พบต้นจำปีหรือจำปา (ในขณะนั้นไม่สามารถบอกได้ว่า เป็นจำปีหรือจำปา เพราะยังไม่พบดอก แต่ชาวบ้านในท้องถิ่นนั้น เรียกว่า จำปา) มีต้นที่มีขนาดใหญ่ สูง 15-25 เมตร ลำต้นมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 เมตร ประมาณ 4-5 ต้น ส่วนลำต้นที่มีขนาดเล็กกว่า มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 40-100 เวนติเมตร พบอยู่ประมาณ 20 ต้น ในการสำรวจครั้งแรกนี้พบซากของผลแก่ที่ร่วงอยู่โคนต้น ส่วนใหญ่ผุพังเกือบหมดแล้ว จึงไม่สามารถระบุได้ว่ามีจำนวนผลย่อยกี่ผล หรือมีจำนวนเมล็ดต่อผลจำนวนเท่าใด แต่จากการสำรวจทางนิวเศวิทยา สามารถระบุได้ว่า ต้นไม้ชนิดนี้มีความแตกต่างจากจำปีหรือจำปาชนิดอื่นๆ เนื่องจากว่าสามารถเจริญเติบโตอยู่ได้ในสภาพของป่าพรุน้ำจืด ซึ่งโดยปกติแล้วจำปีหรือจำปาทุกชนิดทั่วโลกจะขึ้นอยู่บนพื้นที่ดอน หรือบนภูเขา หรือตามพื้นดินมีการระบายน้ำดี
          ต่อมาวันที่ 21 มิถุนายน 2542 ได้เข้าไปสำรวจซ้ำในพื้นที่เดิม เก็บดอกจากบนต้นมาบันทึกภาพ และบันทึกรายละเอียดต่างๆ ของดอก พบว่าก่อนที่ดอกเริ่มแย้มจะมีสีเขียวอ่อนที่โคนกลีบดอกด้านนอก เมื่อเริ่มแย้มจะมีสีขาวใส มีกลีบดอก 12-15 กลีบ ปลายกลีบมนกลม จากการสำรวจในครั้งนี้ จึงสรุปได้ว่า ต้นไม้ชนิดนี้เป็นจำปี เนื่องจากในข้อกำหนดเดิม ที่ระบุว่า จำปีมีกลีบดอกแรกแย้มเป็นสีขาว จำปามีกลีบดอกแรกแย้มเป็นสีเหลือง เหลืองส้ม ที่เรียกสีจำปา หรือมีสีอื่นนอกจากสีขาว และเมื่อสอบถามจากผู้คนในท้องถิ่นได้ความว่า ที่เรียกกันอยู่ว่า จำปา ก็เรียกตามสีของกลีบดอกที่ร่วงอยู่โคนต้น มีสีเหลืองจำปา จึงเรียกหมู่บ้านนี้ว่า บ้านซับจำปา ซึ่งหมายถึงพื้นที่น้ำแฉะมีต้นจำปาขึ้นอยู่ แต่ยังไม่มีใครปีนต้นขึ้นไปเก็บดอกสดๆ ลงมาดูเลยว่ามีสีอะไรกันแน่ เมื่อผู้เขียนนำดอกสีขาวออกมาให้ดู และบอกว่า ต้องเรียกว่าจำปี ปรากฎว่าทุกคนก็ยอมรับ แต่ปัญหาก็คือจะเรียกว่า จำปีอะไร เพราะยังไม่ทราบว่าเป็นชนิดไหน
          เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2542 ได้เดินทางเข้าไปสำรวจซ้ำในพื้นที่เดิม เก็บผลอ่อนและผลแก่จากบนต้นลงมาบันทึกภาพ ตรวจสอบลักษณะของผล มีผลย่อยจำนวน 15-25 ผล และมีเมล็ด 1-6 เมล็ดต่อผลย่อย จากการสำรวจในครั้งนี้ ได้นำข้อมูลมาเปรียบเทียบกัพรรณไม้วงศ์จำปาที่มีอยู่ในประเทศไทยและในประเทศข้างเคียง สามารถระบุได้ว่า เป็นพรรณไม้ชนิดใหม่ของโลก (new species) เมื่อมีการส่งตัวอย่างไปตรวจสอบรายละเอียดซ้ำที่หอพรรณไม้ไลเดน ประเทศเนเธอแลนด์ ทางศาสตราจารย์ฮัน พี นูติบูม ผู้เชี่ยวชาญพรรณไม้วงศ์จำปา ก็ยืนยันว่าเป็นพรรณไม้ชนิดใหม่ของโลก จึงร่วมกันเขียนรายงานการค้นพบ โดยได้รับพะราชทานพระบรมราชานุญาต ให้ใช้ชื่อพระนามาธิไธยเป็นชื่อพืชชนิดใหม่ว่า Magnolia sirindhorniae  Noot.& Chalermglin  โดยมีชื่อภาษาไทยว่า จำปีสิรินธร แล้วนำลงพิมพ์ในวารสารการจำแนกพรรณไม้ BLUMEA เมื่อเดือนสิงหาคม 2543
          จากผลแก่ที่เก็บเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2542 มีการนำเมล็ดมาเพาะ พบว่าเมล็ดหล่นอยู่โคนต้นมีเปอร์เซนต์การบงอกต่ำมาก  และได้ต้นกล้าที่ไม่ค่อยแข็งแรง เมื่อเปรียบเทียบกับผลแก่ที่เก็บจากต้น กลับให้เมล็ดที่มีเปอร์เซนต์การงอกสูงมาก เกือบร้อยเปอร์เซนต์ และมีต้นกล้าที่แข็งแรงกว่าต้นกล้าที่ได้จากการเพาะเมล็ดที่หล่นอยู่โคนต้น




สภาพของป่าพรุถิ่นกำเนิด


          ลักษณะเด่นที่แตกต่างจากชนิดอื่น   คือขึ้นแช่น้ำอยู่ในป่าพรุน้ำจืดของภาคกลาง มีต้นใหญ่ เปลือกแตกเป็นลึกตามยาม ใบแก่รูปรีค่อนข้างกลม ดอกเริ่มแย้มมีสีเขียวอ่อนที่โคนกลีบดกด้านนอก ปลายกลีบมนกลม กลีบค่อนข้างบาง ช่อผลค่อนข้างกลมและเล็ก

         ลักษณะเด่นของพรรณไม้ในวงศ์จำปา  จำปีสิรินธรจัดอยู่ในวงศ์จำปา (Family Magnoliaceae) พรรณไม้ในวงศ์นี้ จัดเป็นพรรณไม้ที่มีความเก่าแก่ดึกดำบรรพ์ที่สุดในหมู่ของไม้ดอกที่มีอยู่ในยุคปัจจุบัน มีวิวัฒนาการในการปรับตัวต่ำที่สุด จึงเป็นพรรณไม้ที่มีโอกาสสูญพันธุ์ในสภาพธรรมชาติได้มากที่สุด ลักษณะเด่นของพรรณไม้ในวงศ์จำปา ได้แก่ มีลำต้นได้หลายขนาด นับตั้งแต่ขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก หรือเป็นไม้พุ่ม มีเปลือกไม้ค่อนข้างหนา ฉ่ำน้ำ มีกลิ่นฉุน มีช่องอากาศเป็นรอยขีดสีขาวนูนเล็กน้อยกระจายอยู่ มีใบเดี่ยว ออกเวียนรอบกิ่ง พรรณไม้พื้นเมืองของไทยในวงศ์นี้ไม่ผลัดใบ มีดอกขนาดใหญ่ เป็นดอกเดี่ยว ออกตามซอกใบหรือตามปลายยอด มีกลีบเลี้ยงและกลีบดอกที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน มีกลีบหนา ฉ่ำน้ำ แข็งเปราะ มีเกสรเพศผู้และเพศเมียจำนวนมาก มีผลเป็นผลกลุ่ม อยู่รวมกันเป็นช่อ ส่วนใหญ่เปลือกผลเชื่อมติดกัน แล้วแตกออกแนวเดียว มีเมล็ดแก่สีแดงเข้ม ส่วนใหญ่ขึ้นอยู่บนภูเขา ตามยอดดอยที่มีอากาศหนาวเย็นและชื้น



ต้นที่มีขนาดใหญ่ในถิ่นกำเนิด

            คัดจากส่วนหนึ่งของหนังสือ นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร และ จำปีสิรินทร ของ สถาบันนวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)
            เพื่อการศึกษาและสืบค้นข้อมูลพรรณไม้ในงาน "สวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน" ของโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจกาพระราชดำริฯ