การปลูกและบำรุงรักษา

        
       ผู้ที่จะปลูกเลี้ยงจำปีสิรินธร ควรมีความเข้าใจในธรรมชาติของจำปีชนิดนี้ให้ถ่องแท้เสียก่อน  ว่าชอบเจริญเติบโตอยู่ในสภาพธรรมชาติอย่างไร  ผู้ที่ต้องการปลูกควรที่จะปรับสภาพลักษณะของพื้นที่ปลูกให้มีความใกล้เคียงให้เหมาะสม ต้นกล้าก็จะเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว มีความแข็งแรง ในทางตรงกันข้าม ถ้าไม่มีความเข้าใจในธรรมชาติของจำปีชนิดนี้อย่างดีพอแล้ว เมื่อปลูกลงไปในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม จำปีสิรินธรก็จะไม่เจริญเติบโต และมีหลายรายที่ปลูกไปแล้วตาย เนื่องจากมีความเข้าใจที่ผิดๆ
        ก่อนอื่น ควรตรวจสอบให้ดีเสียก่อนว่า ต้นกล้าจำปีสิรินธรที่ท่านจะปลูกนั้นมีการขยายพันธุ์มาอย่างไร เป็นต้นกล้าที่มาจากการเพาะเมล็ด ปักชำ หรือการตอนกิ่ง หรือมาจากการขยายพันธุ์โดยวิธีการทาบกิ่ง เสียบยอด ติดตา
        ปัญหามีอยู่ว่า แล้ววิธีการขยายพันธุ์ มากเกี่ยวข้องกับการปลูกและบำรุงรักษาอย่างไร ?
        คำตอบก็คือ  มีความเกี่ยวข้องเป็นอย่างมาก และสำคัญมากด้วย  เนื่องจากจำปีสิรินธรเป็นจำปีเพียงชนิดเดียวในโลกที่มีถิ่นกำเนิดและเจริญเติบโตอยู่ในป่าพรุน้ำจืด ชอบสภาพของสิ่งแวดล้อมที่ชื้นแฉะ ในช่วงฤดูฝนโคนต้นและรากจะแช่อยู่ในน้ำเป็นเวลามากกว่า 5 เดือนของแต่ละปี ดังนั้นรากของจำปีสิรินธรจึงมีความคุ้นเคยกับสภาพดินที่ชื้นแฉะ หรือดินในที่ลุ่มซึ่งมีความชื้นมาก
        เมื่อท่านปลูกต้นกล้าที่มาจากการเพาะเมล็ด หรือการปักชำ หรือการตอนกิ่ง รากของต้นกล้าที่แตกออกมานั้นก็จะเป็นรากที่แท้จริงของจำปีสิรินธร ซึ่งชอบสภาพของดินปลูกที่แฉะ หรือดินชื้นมากๆ เมื่อท่านสามารถหาพื้นที่ปลูกที่เหมาะสม เช่น พื้นที่ลุ่มต่ำ หรือพื้นที่ใกล้แหล่งน้ำ เช่น ตามริมหนอง คลอง บึง หรือตามริมลำธาร ริมแม่น้ำ ริมบ่อน้ำ หรืออาจเป็นพื้นที่ที่มีน้ำหลากในช่วงฤดูฝน หรือน้ำท่วมขังในระยะเวลาสั้นๆ ได้  เมื่อท่านปลูกในแหล่งดังกล่าวไปแล้ว จำปีสิรินธรก็จะเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว และมีความแข็งแรง แต่ถ้าท่านไม่สามารถหาพื้นที่ดังกล่าวได้ ท่านก็ยังมีโอกาสปลูกจำปีสิรินธรในพื้นที่ลักษณะอื่นๆ ได้ทั่วประเทศไทย แต่มีข้อแม้ว่า ท่านจะต้องรดน้ำโคนต้นจำปีสิรินธรให้มีความชื้นอยู่ตลอดเวลา คือรดน้ำบ่อยๆ รดให้มากกว่าจำปีหรือจำปาอื่นๆ หลักฐานที่ชัดเจนในเรื่องนี้ สามารถแสดงให้ผู้ปลูกทั่วไปเห็นได้ตลอดเวลา ก็คือ ที่สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ตั้งอยู่เลขที่ 196 ริมถนนพหลโยธิน ในบริเวณเดียวกับสภาวิจัยแห่งชาติ ภายในตึก วว. มีการปลูกจำปีสิรินธร 1 ต้น โดยที่ต้นกล้านี้มาจากการเพาะเมล็ด ปลูกเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2544 ขณะที่ปลูกต้นกล้ามีความสูง 1.50 เมตร สภาพของบริเวณที่ปลูกเป็นพื้นดินที่ถมสูงกว่าบริเวณข้างเคียงโดยรอบ ประมาณ 1 เมตร มีการขุดหลุม กว้าง และ ลึก 50 เซนติเมตร รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยหมัก มีการรดน้ำทุกวันให้โคนต้นชื้นอยู่ตลอดเวลา  ปรากฎว่า เมื่อเวลาผ่านไป 1 ปี จำปีสิรินธรต้นนี้มีความสูง 3 เมตร และเมื่อเวลาผ่านไป 2 ปี มีความสูงถึง 6 เมตร สามารถกล่าวได้ว่า วว. ปลูกจำปีสิรินธรนอกถิ่นกำเนิดเป็นแห่งแรก และเจริญเติบโตได้ดีที่สุดในประเทศไทยในขณะนี้
        ในเวลาเดียวกัน มีหน่วยงานราชการหลายแห่ง รวมทั้งเอกชนหลายราย ปลูกต้นจำปีสิรินธรที่มาจากเพาะเมล็ด โดยมีการพูนดินขึ้นมา หรือถมเป็นโคก หรือปลูกใส่รองบ่อ ซึ่งทำให้โคนต้นมีความสูงกว่าบริเวณข้างเคียง เมื่อรดน้ำแล้ว น้ำจะระบายหรือไหลออกไป รากจึงได้รับความชื้นน้อย ต้นกล้าจึงไม่ค่อยเจริญเติบโต ไม่ค่อยแข็งแรง วิธีแก้ไขง่ายๆ คือ รดน้ำให้มากขึ้น หรือให้บ่อยขึ้น หรือให้ทำการทลายโคกที่อยู่โคนต้นนั้นออกเสีย
        ถ้าท่านปลูกต้นกล้าจำปีสิรินธรที่มีการขยายพันธุ์โดยวิธีการทาบกิ่ง เสียบยอด หรือติดตา มีการใช้ต้นตอที่เป็นจำปา หรือจำปี หรือจำปีป่า ส่วนของจำปีสิรินธรจึงเป็นส่วนที่อยู่ข้างบนพื้นดิน คือเป็นส่วนที่เราเห็นอยู่ แต่ส่วนที่อยู่ใต้ดิน เป็นส่วนของรากนั้นจะเป็นของชนิดที่เราใช้มาเป็นต้นตอ ไม่ว่าจะเป็นจำปา จำปี หรือจำปีป่า ซึ่งเป็นพืชที่ชอบอยู่ในที่ดอน มีสภาพเป็นดินร่วน ระบายน้ำได้ดี ไม่ชอบน้ำแฉะหรือน้ำท่วมขัง ดังนั้นถ้าปลูกจำปีสิรินธรที่มีการขยายพันธุ์โดยวิธีการทาบกิ่ง เสียบยอด หรือติดตาลงในพื้นที่ชื้นแฉะ หรือน้ำท่วมขัง ปรากฎว่า จำปีสิรินธรต้นดังกล่าวก็จะตาย ซึ่งมีผู้ปลูกจำนวนมากสอบถามว่า ทำไมปลูกแล้วตาย บางรายก็ให้ไปตรวจสอบสภาพพื้นที่ จึงพบว่าต้นตายเนื่องมาจากปลูกกิ่งทาบในที่แฉะ ในขณะที่ปลูกต้นเพาะเมล็ดในที่แฉะแล้วเจริญเติบโตดี และในทางตรงกันข้าม ถ้ามีการปลูกกิ่งทาบในที่ดอน ก็จะเจริญเติบโตได้ดี
      โดยสรุปแล้ว ก็จะต้องดูว่าต้นกล้าจำปีสิรินธรที่ท่านจะปลูกนั้น ขยายพันธุ์มาโดยวิธีการใด ถ้ามาจากการเพาะเมล็ด ก็จะต้องปลูกในพื้นที่ลุ่ม ดินชื้น แต่ถ้าขยายพันธุ์มาโดยการทาบกิ่ง เสียบยอด หรือติดตา ก็จะต้องปลูกในที่ดอน ดินมีการระบายน้ำดี
       คราวนี้
มีคำถามขึ้นมาอีกว่า แล้วต้นที่ท่านปลูกอยู่แล้วนั้น มาจากการขยายพันธุ์แบบใด
       คำตอบก็คือ  ต้องมีการตรวจสอบ หรือสอบถามจากผู้ที่มีความรู้ มีประสบการณ์ในการขยายพันธุ์พืช วิธีการคือ ตรวจจากเปลือกที่อยู่ในโคนต้น ว่ามีรอยของการทาบ เสียบยอด ติดตา หรือไม่ หรือตรวจจากรอยตุ่มขาวๆ เล็กๆ ซึ่งเป็นช่องหายใจที่มีอยู่ทั่วไป เป็นลักษณะเฉพาะของพรรณไม้ในวงศ์จำปาแต่ละชนิดที่มีความแตกต่างกันออกไป ถ้ามีร่องรอยของการทาบ หรือมีรอยตุ่มขาวๆ ที่โคนต้นกับที่ลำต้นไม่เหมือนกัน ก็แสดงว่า ต้นนั้นไม่ใช่ต้นเพาะเมล็ดหรือปักชำ จึงควรนำไปปลูกให้ถูกวิธี
       
คำถามที่พบเสมอ  ก็คือ ทำไมปลูกจำปีสิรินธรแล้วไม่ออกดอก
        ผู้ตอบจะต้องถามท่านก่อนว่า  ท่านปลูกต้นจำปีสิรินธรที่ขยายพันธุ์มาโดยวิธีการใด เพราะโดยธรรมชาติแล้ว จำปีสิรินธรเป็นไม้ต้นขนาดใหญ่ มีเส้นผ่าศูนย์กลางของโคนต้นได้ถึง 2 เมตร และมีความสูงได้ถึง 35 เมตร เจริญเติบโตอยู่ในสภาพชื้นแฉะ
       ถ้าท่านปลูกจากต้นเพาะเมล็ด ก็ต้องปลูกอยู่ในสภาพพื้นที่แฉะ เป็นเวลาอย่างน้อย 7 ปี หรือมีความสูงมากกว่า 10 เมตร จึงออกดอก
       ถ้าท่านปลูกจากต้นปักชำ ก็ต้องปลูกในสภาพที่แฉะ เป็นเวลาอย่างน้อย 2-3 ปี หรือมีความสูงมากกว่า 2-3 เมตร จึงจะออกดอก
       ถ้าท่านปลูกจากการทาบกิ่ง เสียบยอด หรือติดตา ก็ต้องปลูกในสภาพที่ดอน ดินระบายน้ำดี เป็นเวลาอย่างน้อย 2-3 ปี หรือมีความสูงมากว่า 2-3 เมตร จึงจะออกดอก
       แต่ปัญหาที่เป็นอยู่ในปัจจุบันคือ  ไม่มีผู้ขยายพันธุ์รายใด ปักชำกิ่งจำปีสิรินธรจากกิ่งของต้นใหญ่หรือต้นแม่พันธุ์ที่เคยออกดอกแล้ว และในเวลาเดียวกันก็ไม่มีผู้ขยายพันธุ์รายใด ทำการทาบกิ่ง เสียบยอด หรือติดตาจากกิ่งของต้นใหญ่หรือต้นแม่พันธุ์ที่เคยออกดอกแล้ว  ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันก็คือ มีการปักชำกิ่ง หรือมีการทาบกิ่ง เสียบยอด ติดตามาจากต้นกล้าเพาะเมล็ดขนาดเล็กที่มีความสูงเพียง 1-2 เมตร ดังนั้น ไม่ว่าท่านจะปลูกอย่างไร จำปีสิรินธรก็จะไม่ออกดอก จนกว่าจะมีอายุเกิน 7 ปี หรือมีความสูงมากกว่า 10 เมตร
    
 
      การแก้ไขให้ออกดอกเร็ว 

       ถ้ามีการปักชำ หรือทาบกิ่ง เสียบยอด หรือติดตาจากต้นแม่พันธุ์ที่ออกดอกแล้ว เมื่อนำมาปลูกก็จะออกดอกได้เร็วขึ้น แต่ถ้าไม่สามารถขยายพันธุ์จากต้นแม่พันธุ์ที่ออกดอกแล้ว ก็จะต้องรอจนกว่าจะมีอายุเกิน 7 ปี หรือมีความสูงมากกว่า 10 เมตร หรืออาจใช้ฮอร์โมนเร่งดอกเข้าช่วย