พระราชประวัติ (ต่อ)

905-index2.jpg (187858 bytes)

      ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ล้วนเน้นหนักทางด้านพระปรีชาสามารถในการศึกษา และการวางพระองค์ในหมู่พระสหาย  แต่นอกเหนือจากนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  ยังทรงปฏิบัติพระภารกิจสำคัญที่ทรงได้รับมอบหายจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้ลุล่วงไปด้วยดี เช่น การเสด็จพระราชดำเนินไปร่วมพิธีพระบรมศพพระเจ้ากุ๊สตาฟที่ ๖ อดอล์ฟ ณ กรุงสต็อคโฮม ประเทศสวีเดน ในปี ๒๕๑๖ (ซึ่งได้ทรงพระนิพนธ์เรื่องการเดินทางนี้ไว้ด้วยตามที่กล่าวมาแล้ว) และการเสด็จพระราชดำเนินไปยังประเทศอิสราเอลและอิหร่าน  พร้อมด้วยสมเด็จพเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ ตามคำกราบบังคมทูลเชิญของรัฐบาลอิสราเอล และเจ้าชายเรซา ปาห์เลวี และเจ้าหญิงฟาราห์นาซ ปาห์เลวี แห่งอิหร่าน  เพื่อทอดพระเนตรการพัฒนาของประเทศทั้งสอง เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในประเทศไทย ในเดือนเมษายน พ.ศ.๒๕๒๐

        ต่อจากนั้น ระหว่างวันที่ ๒๘ เมษายน - ๒ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๒๓  สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ ไปทรงร่วมพิธีสถาปนาเจ้าฟ้าหญิงเบียทริกซ์ขึ้นเป็นพระราชินีแห่งประเทศเนเธอแลนด์  ในปีเดียวกัน ระหว่างวันที่ ๑๙ พฤษภาคม -๓ มิถุนายน ได้เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ ไปทรงเยือนประเทศฝรั่งเศส ตามคำกราบบังคมทูลเชิญของรัฐบาลฝรั่งเศส และเยือนประเทศอังกฤษ ระหว่างวันที่ ๘-๑๔ มิถุนายน ๒๕๒๓ ตามคำกราบบังคมทูลเชิญของรัฐบาลอังกฤษ เพื่อทอดพระเนตรกิจการด้านการศึกษาและวัฒนธรรม กิจกรรมด้านกาชาด ตลอดจนการพัฒนาในด้านต่างๆ ของประเทศทั้งสอง  ทั้งยังเสด็จฯประเทศเบลเยี่ยมเป็นการส่วนพระองค์ ในฐานะราชอาคันตุกะของสมเด็จพระราชาธิบดีโบดวงและพระราชินีฟาบิโอลา ระหว่างวันที่ ๓-๕ มิถุนายน ๒๕๒๓ ด้วย

        ปี พ.ศ. ๒๕๒๔ ระหว่างวันที่ ๑๑-๒๐ พฤษภาคม สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  ได้เสด็จฯ เยือนประเทศจีน ตามคำกราบบังคมทูลเชิญของรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน  โดยทรงเป็นอาคันตุกะของนายจ้าว จื่อหยาง นายกรัฐมนตรี ในโอกาสนี้ได้ทรงพระนิพนธ์หนังสือชื่อ "ย่ำแดนมังกร" บรรยายเรื่องการเดินทาง และบุคคล ตลอดจนสิ่งที่พระองค์ได้ทรงพบปะไว้อย่างละเอียดและสนุกสนานชวนอ่านยิ่ง

       เมื่อวันที่ ๒๔ กรกฎาคม ศกเดียวกัน  ก็ทรงเป็นผู้แทนพระองค์เสด็จฯไปทรงร่วมในพิธีอภิเษกสมรสระหว่างเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ มกุฎราชกุมารของอังกฤษ และเลดี้ ไดอาน่า ตามคำท๔ลเชิญของสมเด็จพระบรมราชินีนาถแห่งประเทศอังกฤษด้วย

        ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๒๕  สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  ได้เสด็จฯเยือนประเทศต่างๆ ในทวีปยุโรป ดังนี้ ระหว่างวันที่ ๒๙-๓๑ พฤษภาคม ๒๕๒๕  เสด็จฯเยือนสวิส เป็นการส่วนพระองค์ ทรงเยี่ยมองค์การกาชาดสากล  และห้องสมุดสหประชาชาติ แล้วเสด็จฯ เมืองโลซานน์ เพื่อเฝ้าฯ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ระหว่างวันที่ ๑-๙ มิถุนายน ๒๕๒๕ เสด็จฯเยือนสาธารณรัฐออสเตรีย ตามคำกราบบังคมทูลเชิญของรัฐบาลออสเตรีย และโดยเฉพาะที่ออสเตรียนี้ สภามหาวิทาลัยอันน์สบรุก ได้ถวายสมาชิกกิตติมศักดิ์ (Honorary Senator )  แห่งมหาวิทยาลัยอินน์สบรุก  เนื่องจากทางมหาวิทยาลัยทราบดีถึงพระปรีชาสามารถด้านต่างๆ และได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายสายสร้อยทอง ( Gold Chain )  ซึ่งนับเป็นสตรีเอเซียคนแรก และเป็นผู้ที่อายุน้อยที่สุดที่ได้รับเกียรตินี้ ต่องจากนั้นระหว่างวันที่ ๙-๒๓ มิถุนายน ๒๕๒๕ จึงได้เสด็จฯ เยือนสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน ตามคำกราบบังคมทูลเชิญของรัฐบาลเยอรมัน  ซึ่งทุกสถานที่ที่พระองค์เสด็จฯ ไป สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  ทรงเป็นที่ประทับใจ ทั้งของชาวไทยที่พำนักในประเทศนั้นๆ และชาวต่างชาติเป็นอย่างยิ่ง