มะเกี๋ยง
พืชในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช สนองพระราชดำริโดย
สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล
สถาบันวิจัยและฝึกอบรมการเกษตรลำปาง

ลักษณะใบมะเกี๋ยง



ก้านใบสีแดง

ลักษณะใบมะเกี๋ยง

ใบมะเกี๋ยงมีลักษณะเป็นใบเดี่ยว เกิดบนกิ่งอ่อนออกตรงกันข้ามเป็นคู่ ( opposite ) มีจำนวนใบกิ่งละ 4-6 คู่ ใบที่เกิดใหม่จัดเรียงในแนวตั้งฉากกับใบคู่ที่อยู่ต่ำลงมา แผ่นใบรูปขอบขนาน (oblong) ถึงรูปรีขอบขนาน ( oblong-elliptic) หรืออาจเป็นรูปใบหอก ( lanceolate ) ขนาดใบกว้าง 8-12 เซนติเมตร ยาว 20-30 เซนติเมตร ขอบใบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย หลังใบเกลี้ยงสีเขียวเข้มเป็นมัน ท้องใบเรียบสีเขียวอ่อน ก้านใบสีเขียว เขียวปนน้ำตาล น้ำตาลปนแดง ถึงแดงเข้ม ยาว 1.5-3.0 เซนติเมตร ก้านใบเป็นรูปทรงกระบอก ด้านบนเรียบ ตรงกลางมีร่องตื้นต่อกับเส้นกลางใบ เส้นกลางใบสีเขียวอ่อน ด้านบนเป็นร่องตื้น ด้านล่างนูนเป็นเส้นโค้ง เส้นแขนงใบ ( vein) แยกสลับออกจากเส้นกลางใบ มีจำนวนข้างละ 7-15 เส้น สีเขียวอ่อน มองเห็นได้ชัดทั้งสองด้านของแผ่นใบ ปลายเส้นแขนงมักจรดกับเส้นถัดขึ้นไปโดยอยู่ห่างจากขอบใบ 3-10 มิลลิเมตร และอาจมีเส้นบางชนิดขนานขอบใบอีกหนึ่งเส้น เส้นใบย่อยเป็นร่างแห มีขนาดเล็ก ภายในผิวใบทั้งสองด้านมีต่อมขนาดเล็กสีเหลืองกระจายอยู่ทั่วไป มองเห็นได้ชัดในระยะเป็นใบอ่อน คู่ใบอ่อนพับประกบกันตามแนวยาว มีสีเขียวหรือเขียวปนน้ำตาลถึงสีแดง เมื่อใบเจริญขึ้น ก้านใบจะบิดตัวหันด้านหลังใบขึ้น ใบมะเกี๋ยงมีอายุประมาณ 9-10 เดือน ใบแก่เปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีเขียวปนเหลืองถึงเหลืองปนน้ำตาล และจะหลุดร่วงไป ใบที่แห้งมีสีน้ำตาล





 

 



ก้านใบสีเขียว