กัลปพฤกษ์
 

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cassia bakeriana  Craib
วงศ์ :  LEGUMINOSAE -  CAESALPINIACEAE
ชื่อสามัญ : Wishing Tree, Pink Shower
ชื่ออื่น กานล์ (เขมร-สุรินทร์) ชัยพฤกษ์ (ภาคเหนือ)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์  เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง เปลือกนอกสีเทา แตกกิ่งต่ำทอดกิ่งก้านยาวขึ้นสู่ข้างบน เวลาออกดอกสวยงามมาก เพราะในระยะนี้ต้นไม้จะทิ้งใบจนหมด มีแต่ช่อดอกออกแน่นเป็นกลุ่มตลอดกิ่งและติดทนอยู่ได้หลายวัน ชอบขึ้นอยู่ตามป่าเบญจพรรณแล้งภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บางครั้งพบขึ้นอยู่บนเทือกเขาหินปูน ใบ เป็นช่อ ยาวถึง 35 ซม. ใบย่อยมี 5-6 คู่ เป็นรูปบรรทัดสั้นๆ ยาว 4.5-8.5 ซม. กว้าง 1.7-3.0 ซม. ปลายแหลมหรือเป็นติ่ง มีขนละเอียดอ่อนนุ่มปกคลุมทั้งสองด้าน ด้านท้องใบจะมีขนหนาแน่นกว่าด้านหน้าใบ ก้านใบย่อยสั้นมากยาวเพียง 2 มม. ดอก เกิดบนช่อแบบไม่แตกกิ่งก้าน ยาว 4.0-7.5 ซม. ออกมาตามกิ่งก้าน ตลอดกิ่งมีใบประดับแทรกชัดเจน ก้านดอกยาวประมาร 6 ซม. ดอกสีชมพูเมื่อเริ่มบาน แล้วเปลี่ยนเป็นสีชมพูเรื่อๆ จนถึงสีขาว ระยะนี้บริเวณโคนต้นจะเต็มไปด้วยกลีบดอกสีขาวที่ทะยอกันร่วงหล่นจากต้น กลีบรองดอกยาว 9-12 มม. กลีบดอกแยกจากกันเป็นอิสระ แต่ละกลีบมีขนาดเกือบเท่าๆ กัน เป็นรูปไข่ยาว 3.5-4.5 ซม. กว้าง 1.2-2.5 ซม. ปกคลุมด้วยขนละเอียดบางๆ ทั้ง 2 ด้าน ที่ฐานกลีบดอกจะคอดเข้าหากันเป็นส่วนของก้านกลีบดอกสั้นๆ ยาวเพียง 5 มม. เกสรผู้มีขนาดยาวไม่เท่ากัน มีอยู่ 3 อัน คล้ายคลึงกับกัลปพฤกษ์ ได้แก่ C. agnes  (de Witt) Brenan และ กาลปพฤกษ์  C.javanica L. จึงทำให้มีผู้เข้าใจไขว้เขว เรียกชื่อสามัญสับสน ปะปนกันไป  C. agnes มีเขตกระจายพันธุ์ อยู่ในแถบอินโดจีน แตกต่างกับกัลปพฤกษ์ตรงที่ช่อดอกแยกแขนง ดอกใหญ่กว่า และสีเข้มกว่า ส่วน C.javanica นั้น มีเขตกระจายพันธุ์ทางภาคใต้ของไทยลงไปถึงมลายู และอินโดเนเซีย แตกต่างกับกัลปพฤกษ์ตรงที่ฝักแก่ไม่มีขนปกคลุม ใบย่อยมีจำนวนคู่มากกว่า (6-15) คู่ และกลีบรองกลีบดอกมีขนาดสั้นประมาณ 5 มม. เท่านั้น ทั้งสองชนิดนี้เวลาออกดอกไม่ทิ้งใบ และลำต้นเมื่อยังมีอายุน้อยจะมีหนามแข็งๆ ตามลำต้น เกิดจากกิ่งที่ชะงักงัน

ประโยชน์ :  เนื้อไม้และเปลือกมีสารฝาดใช้ฟอกหนัง ฝัก ใช้เป็นยาระบายอย่างอ่อน