แดง
 

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Xylia xylocarpa (Roxb.)Taub. var.  Kerrii (Craib & Hutch) I.C. Nielsen
วงศ์ : LEGUMINOSAE - MIMOSOIDEAE
ชื่อสามัญ : Iron wood
ชื่ออื่น
 ไคว  กร้อม  คว้า  จะลาน  ตะกร้อม  ไปรน์  ผ้าน  เพ้ย  สะกรอม

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ไม้ผลัดใบขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูงถึง 25 เมตร เมื่อสับเปลือกทิ้งไว้จะได้ชันสีแดง ยอดอ่อนมีขนสีเหลืองปกคลุม เปลือกเรียบ ทีเทาอมแดง ใบ เป็นช่อแบบขนนก 2 ชั้น แต่ละช่อมีใบย่อย 4-5 คู่ ใบย่อยรูปไข่หรือรูปไข่แกมรูปขอบขนาน ปลายใบแหลมมน ฐานใบมักจะเบี้ยว ใบแก่ เกลี้ยงหรืออาจจะมีขนประปรายด้านท้องใบ ดอก เป็นช่อเรียงแน่นบนช่อกลมเดี่ยวๆ หรือแตกกิ่งก้านเป็นกลุ่มๆ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางแต่ละช่อประมาณ 1.4 ซม. ก้านช่อดอกมีขนปกคลุมประปราย ดอกย่อยมีขนาดเล็กมี 5 กลีบ สีเหลืองอ่อน เกสรผู้มี 10 อันแยกจากกันเป็นอิสระ ผล เป็นฝักแบนรูปขอบขนาน เรียวและโค้งงอที่ส่วนปลาย ยาว 7-10 ซม. สีน้ำตาลอมเทา แข็ง ผิวเรียบ ไม่มีก้าน เมื่อฝักแก่จะแตกออกเป็น 2 ซีก ผนังของฝักที่แตกมีแตกมักจะม้วนบิดงอ เมล็ดแบน มีจำนวนหลายเมล็ด
            การกระจายพันธุ์และนิเวศวิทยาของต้นแดง พบในป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรังทั่วไป ถ้าขึ้นบนพื้นที่ดินลึกหรือดินค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ เช่น ป่าเบญจพรรณหรือพื้นที่ราบใกล้น้ำ มักจะมีลำต้นตรง
ประโยชน์
: เนื้อไม้สีแดงเรื่อๆ หรือน้ำตาลอมแดง เสี้ยนเป็นคลื่น เนื้อละเอียดแข็งเหนียว หนัก มีความทนทานสูง เลื่อยและตกแต่งได้ยาก เหมาะสำหรับการก่อสร้างที่ต้องการความมั่นคงแข็งแรง เช่น เสาบ้าน คาน เสาสะพาน คันไถ เกวียน ต่อเรือ หมอนรองรางรถไฟ เครื่องตกแต่งบ้าน เครื่องมือทางการเกษตร ฯลฯ ประโยชน์ทางยา
แก่น  ใช้ผสมยาแก้ทางโลหิตและโรคกษัย เห็นที่เกิดจากไม้แดง แก้พิษ โลหิตและอาการปวดอักเสบของฝี ต่างๆ ดับพิษ ไข้กาฬ เปลือก มีรสฝาด ใช้สมานธาตุ  ดอก ผสมยาแก้ไข บำรุงหัวใจ เมล็ด นำมารับประทานได้