สำนักงานบริการด้านภูมิอากาศแห่งชาติประเทศสหรัฐอเมริกา (National Weather Service) ได้ริเริ่มโครงการ "เตรียมพร้อมรับคลื่นสึนามิ " ขึ้นมาเพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลกลาง มลรัฐ และหน่วยงานอำนวยการด้านอุบัติภัยท้องถิ่น รวมไปถึงสาธารณชน เพื่อทำงานร่วมกับระบบการเตือนภัยจากสึนามิ วัตถุประสงค์หลักของโครงการ คือการเพิ่มความปลอดภัยของสาธารณชนเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินจากคลื่นสึนามิ โดยโครงการนี้จัดทำขึ้นตามรูปแบบของการ "เตรียมพร้อมรับพายุ " (StormReady) ที่มีมาก่อน

 
 

      ชุมชนในสหรัฐอเมริกาที่เตรียมพร้อมรับมือกับสึนามิจะต้องทำอะไรบ้าง ?

  • จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการยามฉุกเฉิน

  • สามารถส่งสัญญาณเตือนภัยถึงคนในชุมชนได้

  • ทำแผนรับมือกับภัยสึนามิ

  • จัดกิจกรรมสร้างความตระหนักให้แก่ชุมชน

  • พร้อมรับสัญญาณเตือนจากศูนย์เตือนภัยแห่งชาติ หรือในระดับภูมิภาค (ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้มีข้อกำหนดในประเทศไทย แต่ในสหรัฐอเมริกา หมายถึงเครื่องรับวิทยุที่รับคลื่นเตือนภัยจากหน่วยงานเตือนภัย)

    ทำไมประเทศไทยจึงต้องเตรียมพร้อม
    ?

  • ความสูญเสียที่ประเทศไทยได้รับจากคลื่นสึนามิ เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ.2547 เป็นบทเรียนว่า ภัยจากสึนามิ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสูญเสียชีวิต เป็นสิ่งที่สามารถป้องกันหรือลดลงได้ หากเราเตรียมพร้อม

  • ความรู้เกี่ยวกับคลื่นสึนามิและวิธีปฏิบัติตนเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน สามารถลดความสูญเสียได้

  • การเตรียมการล่วงหน้าในด้านการออกแบบอาคาร สถานที่ การจัดทางเดิน การกำหนดบริเวณอันตราย และบริเวณปลอดภัย ทางขึ้นสู่ที่ปลอดภัย และการประกาศแจ้งเตือนต่อชุมชน เป็นสิ่งที่สามารถทำได้ในราคาที่ไม่แพงนัก

  • เมื่อเราพร้อมและสร้างความมั่นใจด้วยความไม่ประมาทจะทำให้พื้นที่ของประเทศไทยที่อยู่ริมฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย กลับมาเป็นเมืองน่าอยู่กว่าเดิม

    หน้าที่ของภาครัฐ

  • ประสานงานระดับนานาชาติ เพื่อสร้างความร่วมมือในการจัดทำระบบเตือนภัยล่วงหน้าก่อนที่คลื่นสึนามิจะมาถึง

  • กำหนดช่องทางการสื่อสารเพื่อการแจ้งเตือนแก่ทุกชุมชนในเขตที่มีความเสี่ยง

  • วางแผนเพื่อกำหนดพื้นที่ที่อันตรายและพื้นที่ปลอดภัยในบริเวณชายฝั่ง (โดยอิงข้อมูลจากระบบแผนที่ที่แสดงระดับความสูงของพื้นดิน) ประกาศเขตที่เสี่ยงภัย วางโครงสร้างพื้นฐานในการอพยพคน หาที่ปลอดภัย หรือกำหนดให้สถานที่บางแห่งทำหน้าที่เป็นที่หลบภัย

  • สร้างระบบการประสานงานระหว่างบุคคลากรจากฝ่ายต่างๆ ในการทำงานร่วมกันเมื่อเกิดภัย ฝึกคนให้รู้จักระบบการเตือนภัยและหนีภัย ประสานกับสถาบันวิจัย สถานศึกษาและชุมชน เพื่อศึกษาและพัฒนารูปแบบการเตือนภัย ที่เหมาะสม ได้ผล เข้ากับท้องถิ่น และประหยัด

  • ให้ความรู้แก่ประชาชน ข้าราชการ และเยาวชน เกี่ยวกับความปลอดภัยจากอุบัติภัยต่างๆ (ไม่จำกัดอยู่ที่สึนามิ) ในโรงเรียน และด้วยสื่อที่เหมาะสม

    หน้าที่ของชุมชน และผู้นำชุมชน

  • จัดกิจกรรมที่สร้างความตระหนักเรื่องภัยธรรมชาติ

  • จัดตั้งคณะกรรมการด้านอุบัติภัยของชุมชน เพื่อวางแผนการทำงานต่างๆ และจัดผู้รับผิดชอบ

  • หลีกเลี่ยงการสร้างอาคารที่ไม่ปลอดภัย และเสริมสร้างสิ่งที่ช่วยในการลดภัยจากคลื่นสึนามิ เช่น แนวของพืชยืนต้น การพัฒนาป่าชายเลนให้มีแนวป้องกันธรรมชาติเพิ่มขึ้น

  • จัดทำทางเดินขึ้นสู่ที่สูง และคัดเลือกสถานที่ซึ่งจัดให้เป็นที่ปลอดภัยจากสึนามิ ทั้งนี้อาจใช้ข้อมูลด้านความสูงจากระบบแผนที่ของทางการ พร้อมติดป้ายแสดงเส้นทาง

  • จัดรูปแบบแจ้งเตือนแก่ชุมชนด้วยระบบเสียงและสื่อที่เหมาะสม (ไซเรน กลอง หอกระจายข่าว วิทยุ โทรทัศน์ SMS )

  • จัดบุคลากรให้มีความรับผิดชอบในการรับฟังข่าวสารจากส่วนกลางที่มีข้อมูลเจ้งภัยสึนามิ

  • จัดการฝึกซ้อมการแจ้งเตือนภัย รวมทั้งการอพยพอย่างเป็นระเบียบและปลอดภัย อย่างสม่ำเสมอ
    เนื่องจากหนังสือเล่มนี้ จัดพิมพ์ขึ้นก่อนที่ประเทศไทยจะมีความพร้อมในการตั้งรับกับภัยธรรมชาติเพื่อให้เกิดการสูญเสียน้อยที่สุด ดังนั้นการเตรียมการต่างๆ ยังอยู่ในระหว่างการวางแผนดำเนินการ หนังสือเล่มนี้เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมสร้างความตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องหาความรู้และวางแผนเพื่อดำเนินการต่อไป
    ตัวอย่างป้ายแสดงความพร้อมของชุมชน ตามโครงการ "เตรียมพร้อมรับคลื่นสึนามิ"ของสหรัฐอเมริกา

 
 

 

 
  ป้ายแจ้งเตือนว่า เป็นพื้นที่เสี่ยงภัยหากมีแผ่นดินไหวให้รีบเคลื่อนย้ายไปยังที่สูง หรือถอยห่างฝั่งมากขึ้น ป้ายบอกเส้นทางอพยพ เมื่อมีสัญญาณเตือนภัยจากสึนามิ สถานที่สำหรับรวมตัวผู้หลบภัย ซึ่งอยู่บนที่สูง และสามารถกันแดด กันฝนได้ระหว่างรอจนพ้นภัย