HOME




 








 

                       

"แย้ " ในโครงการพระราชดำริ "สมเด็จพระเทพฯ"


คนอะไรหน้าตายังกะแย้"
"ตาคนนั้น นอกจากไม่หล่อแล้วหุ่นยังเหมือนแย้อีกต่างหาก"
"แย้ปิ้งยังดูดีกว่าเธอเลย"
สารพัดคำพูด คำเหน็บแนม รวมไปถึงถ้อยคำหยอกล้อระหว่างเพื่อนฝูงที่สนิทสนมกัน หรือการกล่าววาจาเปรียบเปรยกับบุคคลที่ตัวเองรู้สึกหมั่นไส้ โดยนำคนๆ นั้นไปเปรียบเทียบกับ "แย้"
แต่จะมีสักกี่คนที่ใช้คำพูดเหล่านั้นรู้จักหน้าค่าตา เจ้าสัตว์ชนิดนี้จริงๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนรุ่นใหม่ที่ใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในเมือง

ผู้เขียนเองก็ไม่คุ้นกับเจ้าสัตว์ชนิดนี้เท่าไร กระทั่งสะดุดตากับเอกสารวาระงานแสดงนิทรรศการ และประชุมวิชาการเพื่อเทิดพระเกียรติและสนองพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เรื่อง "ทรัพยากรไทย ธรรมชาติแห่งชีวิต" ที่จะจัดขึ้นระหว่าง 9-15 พฤษภาคม ที่สำนักพระราชวัง สนามเสือป่า ในงานดังกล่าวมีการเสนองานวิจัยเรื่อง "การศึกษาความสัมพันธ์เชิงวิวัฒนาการของแย้จากพื้นที่ต่างๆ" การศึกษาเรื่องนี้อยู่ภายใต้โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ โดย ผศ.ผุสตี ปริยานนท์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ เป็นหัวหน้าและนักวิจัยประจำโครงการ
อ.ผุสตี ทำให้เรารู้จักกับสัตว์ชนิดนี้มากยิ่งขึ้น
"ในแง่นิเวศวิทยา แย้เป็นเพียงสัตว์ชนิดหนึ่งที่ทำให้ระบบในธรรมชาติสมดุลเพราะเขาจะกินแมลงที่เป็นศัตรูพืช และเป็นอาหารให้สัตว์ชนิดอื่น เช่น งู แต่หน้าที่เล็กๆ ดังกล่าว ก็เป็นหนึ่งในฟันเฟืองสำคัญที่ทำให้สิ่งแวดล้อมมีความสมบูรณ์" อ.ผุสตีบอก

"แย้" เป็นสัตว์เลื้อยคลานจำพวกเดียวกันกับกิ้งก่า แต่มีขนาดตัวโตกว่า และสีผิวปรับเปลี่ยนไม่ได้เหมือนกิ้งก่า ลำตัววัดจากปลายปากโดยตลอดยาวประมาณ 11.5 เซนติเมตร(ซ.ม.) หางยาวประมาณ 23.8 ซ.ม. ตัวแบนหางราบ โคนหางแบนและแผ่บานออก สีข้างแผ่ขยาย ไม่มีแผงหนามที่สันหลัง ช่องหูใหญ่ เยื่อหูจมใต้ผิวหนัง หนังข้างคอมีรอยพับตามขวาง รอบลำตัวมีเกล็ดประมาณ 40 แถว หัวและหลังสีมะกอก โดยมีจุดเหลืองขอบดำเรียงเป็นแนวข้างตัว มีแถบดำสลับเหลืองคอมีลวดลายร่างแหดำ ประกอบสีครีม ท้องและอกสีส้มสด ตัวผู้จะมีพังผืดด้านข้าง และสวยกว่าตัวเมีย อาศัยอยู่เกือบทุกภูมิภาคของประเทศ พบมากตามพื้นทรายที่ดอนในป่าเสม็ดใกล้ทะเล

ที่อยู่ของแย้เป็นรู ลึกประมาณ 1 ฟุต เป็นโพรงข้างใน สามารถกลับตัวได้ ที่ปากรูจะมีรอยของหางแย้ เป็นรอยยาวๆ และจะมีรูพิเศษอีกรูหนึ่ง ที่ใช้ป้องกันตัว เมื่อถูกศัตรูรุกรานเข้ารูด้านหนึ่ง แย้สามารถหลบรอดออกไปอีกรูหนึ่งได้อย่างแยบยล เรียกรูนี้ว่า "แปว"
อ.ผุสตีเล่าถึงโครงการนี้ว่า เป็นการศึกษาในแง่พันธุศาสตร์ที่สัมพันธ์กับระบบนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อม โดยเข้าไปสำรวจในเกาะ ซึ่งอยู่ในการดูแลของกองทัพเรือ เช่น เกาะไผ่ เกาะคราม เกาะแรด เกาะแสมสาร เป็นต้น โดยตั้งข้อสงสัยว่าปกติแล้วแย้จะว่ายน้ำไม่เป็น แต่ทำไมบนเกาะต่างๆ โดยเฉพาะเกาะที่มีชายหาด และไม่มีผู้คนพลุก พล่านมากนัก จึงมีสัตว์ชนิดนี้อาศัยอยู่มาก เมื่อ ศึกษาจึงทราบว่าบริเวณเกาะที่มีประชากรแย้อาศัยอยู่นั้นในสมัยดึกดำบรรพ์เคยเป็นพื้นดินมาก่อน
"แย้จึงเป็นสัตว์รุ่นเก่า ที่อาศัยอยู่ดั้งเดิม และอยู่ตลอดมาจนกระทั่งบัดนี้"

เกี่ยวกับสถานภาพของเผ่าพันธุ์แย้ในเวลานี้ อ.ผุสตีบอกว่า ยังไม่ถือว่าเป็นสัตว์ที่ใกล้จะสูญพันธุ์เหมือนสัตว์เลื้อยคลานชนิดอื่นๆ แต่ถ้าเทียบแง่ปริมาณระหว่างอดีตกับปัจจุบันพบว่าลดจำนวนลงอย่างน่าใจหาย เพราะทุกวันนี้แย้ถูกรุกรานจากมนุษย์จำนวนมาก รวมทั้งบางคนยังชอบออกล่าสัตว์ชนิดนี้มาเป็นอาหารอีกด้วย โดยเฉพาะในภาคอีสาน ปริมาณประชากรแย้ลดลงอย่างรวดเร็ว

กับข้อสงสัยที่ว่าทำไมหลายคนจึงนิยมรับประทานกัน อ.ผุสตีแจงว่า คนที่เคยกินมาแล้วบอกว่า รสชาติคล้ายเนื้อไก่ และเนื่องจากแย้มีเนื้อน้อย การนำมาปรุงอาหารต้องใช้หลายๆ ตัว เมนูเด็ดที่ใช้เนื้อแย้มาปรุง เช่น ลาบแย้ แย้ปิ้ง เป็นต้น

ด้วยความวิตกว่า ในอนาคตประเทศไทยจะไม่เหลือสัตว์ชนิดนี้เอาไว้ให้คนรุ่นหลังได้ดูกันอีกแล้ว ทีมงานของ อ.ผุสตี จึงมีโครงการเพาะเลี้ยงแย้ เพื่อการอนุรักษ์ ที่สวนสัตว์เปิดเขาเขียว จ.ชลบุรี

"ความจริงเวลานี้เด็กๆ รุ่นใหม่หลายคน โดยเฉพาะเด็กในเมือง แทบจะไม่รู้จักหน้าค่าตาของเจ้าสัตว์ชนิดนี้เลย จึงคิดกันว่าควรจะเร่งขยายพันธุ์ เพื่อเพิ่มปริมาณในธรรมชาติให้มีมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งบนเกาะที่ทางกองทัพเรือดูแลอยู่ เพราะไม่ค่อยมีใครเข้าไปรบกวน ในอนาคตอาจจะผลักดันให้แย้กลายเป็นสัตว์ประจำเกาะ เพื่อชักชวนให้นักท่องเที่ยวเข้ามาชม เหมือนต่างประเทศ เช่น หากไปเที่ยวเกาะกาลาปากอส จะเจอตัวอีกัวน่า และถ้ามาเที่ยวเกาะในไทยจะได้เห็นแย้ ซึ่งน่าดูไม่แพ้อีกัวน่าเลย"

หากโครงการนี้สำเร็จ นอกจากจะสร้างความสมดุลของระบบนิเวศให้เพิ่มมากขึ้นแล้ว ต่อไปแย้ก็จะออกมาปรากฏโฉมให้ผู้คนรู้จักหน้าตากันมากยิ่งขึ้น ไม่ใช่เป็นเพียงสัตว์ที่อยู่ในจินตนาการอีกต่อไป

ถึงตอนนั้นคนที่เคยถูกล้อว่าหน้าตาเหมือนแย้ จะได้รู้เสียทีว่าควรจะดีใจหรือเสียใจดี

โดย ชุติมา นุ่นมัน
หนังสือพิมพ์มติชน ประจำวันที่  8 พฤษภาคม พ.ศ. 2546  

เพิ่มเติม :   แย้เป็นสัตว์เลื้อยคลานชนิดหนึ่งที่มีลักษ๕ณะคล้ายกิ้งก่า แย้จัดอยู่ในครอบครัว Agamidae และสกุล Leiolepis  แย้ทั่วโลกพบเพียง 9 ชนิด เท่านั้น
แต่ในประเทศไทยพบเพียง 4 ชนิด  คือ
Leiolepis belliana,  Leiolepis  ocellata Leiolepis  reevesii rubritaeniata  และ  Leiolepis  boehmei
แย้ตัวผู้จะมีลวดลายและแถบสีด้านข้างลำตัวเข้มกว่าตัวเมีย การแพร่กระจายของแย้ก็จะแตกต่างกัน เช่น แย้ชนิด L. belliana  พบทุกภาคของประเทศไทย รวมทั้งบนเกาะ ขณะที่แย้ชนิด  L. reevesii rubritaeniata พบทั่วไปทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และแย้ชนิด  L. boehmei  พบเฉพาะบริเวณเขตจังหวัดสงขลา และนครศรีธรรมราช และเป็นแย้ชนิดเดียวที่พบในประเทศไทยที่มีเพศเดียวคือเพศเมีย