1    2

   

ระบบนิเวศหญ้าทะเล
          บทบาทที่สำคัญที่สุดของหญ้าทะเลในระบบนิเวศ คือ การเป็นผู้ผลิต (Producer)  ในห่วงโซ่อาหาร  ส่วนต่างๆ ของหญ้าทะเลโดยเฉพาะส่วนของใบซึ่งจะเน่าเปื่อยหลังจากตายลง  ซากเน่าเปื่อยที่สลายตัวลงเรียกว่า "ดีไทรทัส" (Detritus)  และผลผลิตที่ได้จากขบวนกานสังเคราะห์แสงหญ้าทะเล จะปล่อยอินทรียสารที่ละลายน้ำได้สู่มวลน้ำและถูกถ่ายเทออกไปยังนอกชายฝั่ง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญต่อการหมุนเวียนของคาร์บอนในแหล่งน้ำ โดยจะเป็นอาหารของแพลงก์ตอนพืชและสัตว์ต่อไป
          ปลาบางชนิด หอย เม่น และหอยฝาเดียวบางชนิด จะแทะเล็มหญ้าทะเลเป็นอาหาร สัตว์เหล่านี้บางทีไม่ได้ย่อยสารเซลลูโลส แต่มันจะดูดซึมเซลล์ที่อยู่ในใบหญ้าทะเล หรือในสาหร่ายที่เกาะอยู่ตามผิวใบเท่านั้น  สัตว์ใหญ่ที่กินหญ้าทะเลเป็นอาหารโดยตรง ได้แก่ เต่าทะเล พะยูน และนกเป็ดน้ำ  เป็นต้น

 

ประโยชน์ของหญ้าทะเล
          แหล่งหญ้าทะเลเป็นที่อยู่อาศัยและที่หาอาหารเพื่อการเจริญเติบโตของกุ้ง ปู ปลา นานาชนิดที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ และมีคุณค่าต่อความสมดุลของระบบนิเวศ  ขณะเดียวกันยังเป็นแหล่งหลบภัยศัตรูจากผู้ล่า  ดังนั้นจึงเป็นแหล่งที่เหมาะสำหรับการวางไข่ การอนุบาลของสัตว์ทะเลวัยอ่อน  เช่น ปลาเก๋า  ปลาตูหนา  ปู และกุ้งทะเลหลายชนิด แหล่งหญ้าทะเลจึงเป็นแหล่งทำการประมงชายฝั่งที่สำคัญ
          ประโยชน์ของแหล่งหญ้าทะเลทางเศรษฐกิจโดยตรงด้านอื่น นอกจากการประมงแล้ว  อาจจะมีอยู่อย่างจำกัด  เช่น ชาวอินเดียนตามชายฝั่งทะเลที่เมืองบาจา  แคลิฟอร์เนีย  นำผลของหญ้า  Zopter  ไปใช้ประโยชน์ และในปาปัวนิวกินี  ชาวพื้นเมืองจะกินผลของ  Enhalus  ซึ่งจะมีดอกอย่างกระจัดกระจายเพียง 10 %  ตลอดทั้งปี และนำส่วนใยสีดำของเส้นขอบใบ Enhalus  ที่มีความเหนียวมาก สานเป็นตาข่ายใส่ปลา
          ประโยชน์ทางอ้อมของแหล่งหญ้าทะเลที่สำคัญอีกอย่างก็คือ  การเป็นเสมือนกำแพงชะลอความรุนแรงของกระแสน้ำที่พัดเข้าสู่ฝั่ง ทำให้อัตราการพังทลายของชายฝั่งลดลง
          แต่ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์ทะเลในบริเวณแหล่งหญ้าทะเล  และด้วยทำเลที่แหล่งหญ้าทะเลมักเกิดอยู่ใกล้ชายฝั่ง  จึงส่งผลให้แหล่งหญ้าทะเลถูกรบกวนและทำลายได้โดยง่าย  การทำการประมงที่ไม่ถูกวิธี  เช่น  การใช้อวนรุนอวนลาก  การปล่อยน้ำเสียจากบ่อเพาะเลี้ยงกุ้ง  โรงงานอุตสาหกรรม หรือชุมชนต่างๆ โดยไม่ได้มีการบำบัด  การทำเหมืองแร่ตามชายฝั่ง  และการทำลายพื้นที่ป่าไม้อันเป็นกิจกรรมที่ทำให้น้ำที่ไหลลงสู่ชายฝั่งมีตะกอนมาก ซึ่งตะกอนและน้ำเสียเหล่านี้ เป็นอุปสรรคในการดำรงอยู่ของแหล่งหญ้าทะเล  จนในที่สุดก็จะตายไปและเหลือเพียงแต่หาดเลนที่สกปรกนั่นเอง

 



การอบรมเยาวชน
ณ อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม

          ในประเทศไทย ชายฝั่งทะเลของจังหวัดตรัง  บริเวณอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม เกาะตะลิบง และเกาะมุก มีแหล่งหญ้าทะเลที่สมบูรณ์ที่สุดในประเทศไทย   ซึ่งอาจจะเป็นแหล่งอาหารสำหรับพะยูน และเต่าทะเลที่สมบูรณ์ผืนสุดท้ายของประเทศไทย  จึงควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้ให้แหล่งหญ้าทะเลนี้คงความสมบูรณ์ต่อไป หากเราสามรถนำความรู้ด้านชีววิทยาทางทะเลที่มีอยู่หรือศึกษาค้นคว้าให้เพิ่มมากขึ้น เพื่อที่จะเข้าใจธรรมชาติของสัตว์ทั้งสอง ความรู้ที่ได้จะนำมาใช้ประโยชน์ จนสามารถทำฟาร์มเลี้ยงเต่าทะเลและพะยูนในบริเวณแหล่งหญ้าทะเลอย่างจริงจังในอนาคต