กระเบาใหญ่
 

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Hydnocapus anthelmintica  Pierre ex Laness.
วงศ์ : FLACOURTIACEAE
ชื่อสามัญ :
ชื่ออื่น
 กระเบาน้ำ กระเบาเข้าแข็ง แก้วกาหลง (ภาคกลาง) กระเบา (ทั่วไป) กระเบาตึ้ก (เขมร-ตะวันออก) กราเบา (เขมร) ตัวโฮ่งจี๊ (จีน) เบา (สุราษฎร์ธานี) กะตงดง (เชียงใหม่) ดงปะเปา (ลำปาง) กระเบาข้าวเหนียว (ไทย) ดอกะเบา

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์  ไม้ต้น ขนาดกลาง ไม่ผลัดใบ สูง 10 - 20 ม. มีลำต้นเปลาตรง แต่แก่มากเป็นพูพอนหรือลำต้นไม่กลม เรือนยอด เป็นพุ่มทึบ สัดส่วนเรือนยอดหนากว่า 60% ของความสูงลำต้น เปลือกนอก สีน้ำตาล มีตุ่มระบายอากาศทั่วไป เปลือกใน สีน้ำตาลแดง ใบ ใบเดี่ยว ออกเวียนสลับ รูปขอบขนานแกมรูปหอก กว้าง 4 - 6 ซม. ยาว 15 - 20 ซม. ปลายใบเรียวแหลม โคนใบมนเบี้ยว ขอบใบเรียบ เนื้อใบหนา เกลี้ยง เส้นใบมี 8 - 10 คู่ เส้นใบย่อยสานกันเป็นร่างแหเห็นชัด ใบแห้งสีน้ำตาลแดง ใบอ่อน สีชมพูแดง มองดูเด่นมาก ใบแก่ เขียวเข้ม ดอก ออกตามง่ามใบ เป็นดอกแยกเพศ กลีบรองกลีบดอกและกลีบดอกมีอย่างละ 5 กลีบ ดอกเพศผู้ สีชมพู มีกลิ่นหอม ออกเดี่ยว ๆ ก้านดอก ยาว 1.5 - 2 ซม. เกสรผู้มี 5 อัน ดอกเพศเมีย ออกเป็นช่อสั้น ๆ ดอกสีชมพู ดอกทั้งเพศผู้และเพศเมียต่างมีกลิ่นหอมแรงมาก แม้ว่าดอกจะมีขนาดเล็กก็ตาม ผล รูปกลมใหญ่ มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 8 - 10 ซม. เปลือกผล แข็งคล้ายผลมะขวิด ผิวเรียบ มีขน หรือ เกล็ดสีน้ำตาลแดงคลุม ปลายผลไม่มีจุกหรือรอยแผลใด ๆ เนื้อในผล สีขาวอมเหลืองหุ้มเมล็ดทั้งหมด เมล็ดแก่สีดำ 30 - 50 เมล็ด อัดกันแน่น เมล็ดรูปไข่เบี้ยว กว้าง 1 - 1.5 ซม. ขาว 1.5 - 1.9 ซม.  ระยะเวลาในการออกดอกและเป็นผล ออกดอกระหว่างเดือน พฤษภาคม-มิถุนายน เป็นผลเดือน มิถุนายน-กรกฎาคม การขยายพันธุ์ นิยมใช้เมล็ดเพาะกล้า และจำนวนเมล็ดมีมาก
ประโยชน์
:  ด้านเนื้อไม้แปรรูป ใช้ทำกระดานพื้น ฟืน เมล็ด ให้น้ำมันเรียกว่า น้ำมันกระเบา Chaulmoogra oil หรือ Hydnocarpus oil) มีส่วนประกอบส่วนใหญ่เป็น Chaulmoogric acid และ hydnocarpus acid  ด้านเป็นพืชอาหาร ส่วนที่ใช้เป็นอาหาร คือ ผลสุก มีเนื้อเป็นแป้ง สีขาวอมเหลืองอ่อน เนื้อเยื่อคล้ายเผือกต้ม เนื้อผลที่แก่จัด ใช้รับประทานเป็นของหวานกับน้ำกะทิ รสมัน นุ่ม หวาน ยังไม่มีการศึกษาวิจัยคุณค่าทางโภชนาการ ด้านสมุนไพร ส่วนที่ใช้เป็นสมุนไพรและมีสรรพคุณคือ ใบ รสเมาเบื่อ แก้พิษบาดแผลสด แก้กลากเกลื้อน ฆ่าพยาธิบาดแผล ผล รสเมาเบื่อมัน แก้โรคผิวหนัง แก้โรคเรื้อน มะเร็ง คุดทะราด เมล็ด รสเมาเบื่อมัน บำบัดโรคเรื้อน มะเร็ง คุดทะราดและโรคผิวหนังผื่นคัน รักษาโรคบนศรีษะ ยาถ่ายพยาธิ รักษาโรคเรื้อนและวัณโรค เมล็ดใน แก้โรคผิวหนังต่าง ๆ แก้โรคเรื้อน
รากและเนื้อไม้ รสเมาเบื่อ แก้โรคผิวหนัง ฆ่าพยาธิผิวหนังต่าง ๆ รักษาแผล แก้เสมหะเป็นพิษ ดับพิษทั้งปวง ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา รักษาโรคเรื้อน รักษาวัณโรค ทำให้อักเสบ กระตุ้นการหายใจ ยับยั้งมดลูกบีบตัว ระคายเคืองระบบทางเดินอาหาร ยับยั้งมะเร็ง ต้านเชื้อแบคทีเรีย ต้านยีสต์ แก้ไข้ คลายกล้ามเนื้อเรียบ กระตุ้นการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด ด้านการเป็นไม้ประดับ ความน่าสนใจของไม้ต้นนี้คือ เป็นไม้ที่มีขนาดไม่ใหญ่นัก มีเรือนยอดเป็นพุ่มกลม ทึบ ไม่ผลัดใบ นั่นหมายถึงมีใบให้ร่มเงาได้ตลอดปี โดยเฉพาะเมื่อมีการแตกใบอ่อนสีชมพูแดงให้สีสันสวยงามมาก ในขณะที่มีกระแสลมพัดพลิ้วยอดอ่อน ๆ เหล่านั้น หรือเมื่อกระทบแสงอาทิตย์ในตอนเช้า ดอกแม้มีขนาดเล็กแต่กลิ่นหอมแรงมากผลมีขนาดใหญ่คล้ายผลสีทองสวยงามดี สามารถปลูกได้กว้างขวางทุกภาค เนื้อผลเป็นของหวานได้ด้วย บางแห่งปลิดเนื้อให้ปลากินเป็นอาหาร
ที่มาของข้อมูล  : http://thaimedicinalplant.com/popup/krabaoyai.html