สัตบรรณ
 

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Alstonia scholaris  (L.) R.Br.
วงศ์ : APOCYNACEAE

ชื่อสามัญ : Devil tree , White cheesewood, Blackboard tree, Devil's bark
ชื่ออื่น กะโน้ะ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) จะบัน (เขมร-ปราจีนบุรี) ชบา ตีนเป็ด พญาสัตบรรณ (ภาคกลาง)  ตีนเป็ดดำ (นราธิวาส)  บะซา ปูลา ปูแล (มลายู-ยะลา) ยางขาว (ลำปาง) หัสบรรณ (กาญจนบุรี)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ อาจสูงได้ถึง 30 เมตร ลำต้นเป็นพูพอน เปลือกสีเทาดำ มียางสีขาวคล้ายน้ำนมทุกส่วน กิ่งจะแตกรอบๆ ข้อของลำต้นเป็นชั้นๆ  ใบ เป็นใบเดี่ยวออกรอบข้อ 5-8 ใบ รูปไข่ ปลายใบมนหรือเว้าเล็กน้อย กว้าง 4-6 ซม. ยาว 7-15 ซม. เส้นใบถี่ขนานกันมองเห็นชัดเจน  ดอก เป็นช่อใหญ่ที่ปลายกิ่ง ช่อดอกยาว 5-10 ซม. แตกออกรอบข้อ 5-8 ช่อ และซ้อนกันเหมือนฉัตร  2-3 ชั้น กลีบรองดอกและกลีบดอกมีขนาดเล็กอย่างละ 5 กลีบ กลีบรองดอกจะมีขนอ่อน กลีบดอกสีขาวอมเหลือง โคนดอกเป็นหลอดกลิ่นหอมหวาน ออกดอกราวเดือน พฤศจิกายน-ธันวาคม ผล เป็นฝักกลมยาวออกเป็นคู่ขนานกัน ฝักยาว 25-30 ซม. เส้นผ่าศูนย์กลาง 0.25-0.35 ซม. ติดฝักราวเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ เมื่อฝักแก่จะแตกออกมีเมล็ดจำนวนมาก เมล็ด มีขน สำหรับพยุงตัวทำให้ลอยตามลมไปได้ไกล ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด
ประโยชน์
ด้านสมุนไพร เปลือก ใช้เป็นยาขมช่วยเจริญอาหาร รักษาโรคบิด ท้องร่วง โรคลำไส้ รักษาอาการไข้ และหลอดลมอักเสบ ในเปลือกประกอบด้วย สารอัลคาลอยด์หลายชนิด เช่น ditamine echitamine และ echitamidine จากการทดลองในสัตว์ พบว่าสารสกัดจากเปลือกของลำต้นมีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดและต้านเชื้อแบคทีเรียบางชนิด ใบ ใช้พอกดับพิษต่างๆ  ราก แก้มะเร็ง ขับลมในลำไส้ ยาง จากต้นใช้อุดฟันแก้ปวดฟัน แผลอักเสบ  ด้านอื่น ๆ ใช้เป็นไม้ใช้สอยและไม้ประดับให้ร่มเงา ใช้ทำดินสอและเฟอร์นิเจอร์