สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  ทรงเป็นพระราชธิดาองค์ที่สองในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ พระนามเดิมว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนราชสุดา กิติวัฒนาดุลโสภาคย์ ประสูติเมื่อวันเสาร์ที่ ๒ เมษายน ๒๔๙๘ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต  โดยศาสตราจารย์ นายแพทย์หม่อมหลวงเกษตร สนิทวงศ์ เป็นผู้ถวายการประสูติ  และทรงมีพระนามที่บรรดาข้าราชบริพารเรียกกันทั่วไปว่า "ทูลกระหม่อมน้อย"

          สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  ทรงเริ่มการศึกษาระดับอนุบาลในเดือน กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๐๒ ที่โรงเรียนจิตรลดา ในบริเวณพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ขณะนั้นพระชนมายุได้ ๓ พระชันษาเศษ ทรงมีพระสหายร่วมชั้นเรียนอีก ๒๐ คน ซึ่งมาจากบุตรหลานของพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ ตลอดจนมหาดเล็ก ผู้ได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้มาร่วมเรียนด้วยโดยปราศจากชั้นวรรณะ  วิชาที่ทรงศึกษาในชั้นอนุบาลนี้ คือ วิชาภาษาไทย ภาษาอังกฤษ  เลขคณิต และขับร้อง พระอาจารย์ที่ถวายพระอักษรขณะนั้นได้แก่ อาจารย์ท่านผู้หญิงทัศนีย์ บุณยคุปต์, อาจารย์คุณหญิงอังกาบ บุณยัษฐิติ  และอาจารย์คุณหญิงสุนามัน ประนิช ทั้งนี้ปรากฎว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  โปรดโรงเรียน พระอาจารย์ และพระสหายเป็นอันดี

        เมื่อทรงเรียนจบชั้นประถมศึกษาตอนปลาย  ได้ทรงสอบร่วมกับนักเรียนทั่วประเทศ โดยใช้ข้อสอบกระทรวงศึกษาธิการ  และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  ทรงสอบได้ที่หนึ่ง ได้คะแนนรวมร้อยละ ๙๖.๖๐ อันเป็นคะแนนสูงสุดสำหรับระดับชั้นประถมศึกษาปีที่เจ็ด  จึงทรงได้รับพระราชทานรางวัลเรียนดีจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในงานแสดงศิลปหัตถกรรมนักเรียน ครั้งที่ ๓๑ ณ กรีฑาสถานแห่งชาติ เมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๑๑

        ระหว่างที่ทรงศึกษาอยู่นี้ เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า  สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  ทรงพระปรีชาสามารถในวิชาแทบทุกด้าน  เช่น ภาษาไทย  ภาษาต่างประเทศ ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ รำไทย  ดนตรีไทย และวาดเขียน เป็นต้น  ซึ่งมักจะทรงได้คะแนนมากว่าพระสหายในชั้นเดียวกันอยู่เสมอ  นอกจากนี้ยังโปรดทรงหนังสือมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์  และทรงพระปรีชาสามารถในทางร้อยแก้วและร้อยกรองอย่างยิ่ง  ทรงเริ่มบทพระนิพนธ์ต่างๆ ตั้งแต่เมื่อทรงพระชนมายุได้เพียง ๑๒ พระชันษา เป็นต้นมา บทพระราชนิพนธ์เหล่านี้ได้รับการตีพิมพ์แพร่หลายในหนังสือหลายเล่ม ตัวอย่างเช่น  "อยุธยา" "เจ้าครอกวัดโพธิ์" " ศาสนาเกิดขึ้นได้อย่างไร" เป็นต้น  บทพระราชนิพนธ์ที่รู้จักกันดีในปัจจุบันคือ "พุทธศาสนสุภาษิตคำโคลง" ซึ่งทรงถอดมาจากภาษาบาลี และ "กษัตริยานุสรณ์" ซึ่งทรงทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา ประจำปี ๒๕๑๖ (ขณะนั้นสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  ทรงมีพระชนมายุเพียง ๑๘ พระชันษา)