1    2    3

   

          การอนุรักษ์เต่าทะเล
          อันเนื่องมาจากจำนวนเต่าทะเลที่ลดน้อยลง ในปี พ.ศ. 2512  จึงได้มีการจัดตั้งกลุ่มผู้เชี่ยวชาญศึกษาเรื่องเต่าทะเลขึ้นเพื่อให้เป็นส่วนหนึ่งของสหพันธ์ระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ (The World Conservation Union : IUCN)  ต่อมาในปี พ.ศ. 2518 อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (Convention of International Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora : CITES)  ได้ประกาศให้เต่าทะเลทุกชนิดพันธุ์เป็นสัตว์สงวนในบัญชีที่ 1 (Appendix I )


 

          นักวิชาการและนักอนุรักษ์ในประเทศต่างๆ ริเริ่มวิธีการต่างๆ ที่จะศึกษาให้เข้าใจ ในวิธีการอนุรักษ์และป้องกันการลดจำนวนลงของเต่าทะเล  โครงการนำร่องที่ริเริ่มดำเนินการในขั้นตอนแรก คือ การเพาะเลี้ยงและอนุบาล แล้วปล่อยลงทะเล เมื่อเต่าทะเลมีอายุหลายเดือนและแข็งแรงพอ  แม้ว่าจะมีการใช้วิธีอนุรักษ์ในรูปแบบต่างๆ แล้ว ก็ยังปรากฏว่า จำนวนของเต่าทะเลก็ยังคงลดจำนวนลงอยู่เรื่อยๆ  จนถึงจุดวิกฤต อันตรายที่เกิดขึ้นนั้น มีเหตุเนื่องมาจากกิจกรรมของมนุษย์เป็นข้อใหญ่  ทั้งจากการกระทำโดยเจตนาและเป็นอุบัติเหตุ เช่น  การวางอวน  การลักลอบขุดไข่เต่าทะเล เกิดจากมลภาวะ และการสูญเสียแหล่งวางไข่  ดังนั้น วิธีการเพาะเลี้ยงแล้วนำมาอนุบาลก่อนปล่อยนั้น  เป็นเรื่องยากที่จะดำเนินการ
          สำหรับเต่ามะเฟืองซึ่งยังต้องมีการศึกษาอีกมาก และที่สำคัญคือ ยังขาดความรู้เกี่ยวกับวงจรชีวิตของเต่าทะเลทุกชนิดในช่วงที่ดำรงชีวิตอยู่ในท้องทะเล  ส่วนการเพาะเลี้ยงแล้วปล่อยนั้น ก็ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ว่า สามารถเพิ่มจำนวนการอยู่รอดได้  ปัจจุบันทั่วโลก ยังสนับสนุนโครงการอนุรักษ์เต่าทะเลที่ปล่อยลูกเต่าทันทีที่ออกจากรัง
          ในประเทศไทย เต่าทะเลมีจำนวนลดลงอย่างเห็นได้ชัด ตัวอย่างเช่น ที่บริเวณหาดท้ายเหมือง  จังหวัดพังงา ซึ่งเป็นแหล่งวางไข่ของเต่ามะเฟือง  และเต่าหญ้า  ในปี พ.ศ. 2513-2515  มีเต่าทะเลขึ้นมาวางไข่ปีละมากกว่า 400 รัง  แต่ปัจจุบันพบว่ามีเต่ามะเฟืองและเต่าหญ้าขึ้นวางไข่เพียงปีละ 10-40 รังเท่านั้น  จะเห็นว่า สองทศวรรษที่ผ่านมา จำนวนการวางไข่ของเต่าทะเลลดลงถึง 10 เท่า  จากรายงานของอุทยานแห่งชาติทางทะเลแห่งต่างๆ ที่มีเต่าทะเลขึ้นมาวางไข่ และสถาบันวิจัยชีววิทยาและประมงทะเล จังหวัดภูเก็ต  พบว่า จำนวนการวางไข่ของเต่าทะเลเป็นไปในแนวทางเดียวกัน คือ ลำจำนวนลง
          สำหรับในพื้นที่อนุรักษ์โดยเฉพาะในพื้นที่อุทยานแห่งชาติทางทะเล  ได้มีกิจกรรมอนุรักษ์เต่าทะเลอย่างเป็นรูปธรรม  กล่าวคือ มีกิจกรรมป้องกันการลักลอบขโมยขุดไข่เต่า ควบคู่กับกลยุทธ์ประชาสัมพันธ์ การขอความร่วมมือ และการศึกษาปัจจัยด้านกายภาพต่างๆ  ไข่เต่าทะเลที่ถูกวางไว้ในที่ห่างไกลการดูแลจะถูกนำเคลื่อนย้ายไปยังบริเวณเพาะฟังที่ปลอดภัย  และง่ายแก่การควบคุมดูแล  เมื่อลูกเต่าฟักเป็นตัวก็ปล่อยให้ลงทะเลทันทีตามธรรมชาติ กิจกรรมต่อไป คือการดูแลรักษาท้องทะเล  ชายหาด และแหล่งหญ้าทะเล ให้มีความอุดมสมบูรณ์และไม่เปลี่ยนแปลงสภาพไปจากเดิมตามธรรมชาติ  และมุ่งเน้นให้ไม่มีกิจกรรมเคลื่อนย้ายไข่เต่าไปเพาะฟักอีก  แต่จะปล่อยให้เต่าทะเลเพาะฟักตรงขุดที่ขึ้นมาวางไข่ตามธรรมชาติดังเดิม  และที่จะละเลยไม่ได้ ก็คือ การบันทึกข้อมูลเพื่อใช้เป็นแนวทางในการจัดการพัฒนาการอนุรักษ์เต่าทะเลต่อไป