1    2    3   4
.................. 

   
 

          ประเทศไทยมีฝั่งทะเลอยู่ 2 ฝั่ง คือ ฝั่งอ่าวไทย  ซึ่งตั้งอยู่ในทะเลจีนใต้  มหาสมุทรแปซิฟิก และฝั่งทะเลอันดามัน  ในมหาสมุทรอินเดีย ฝั่งอ่าวไทยแบ่งเป็น 2 ด้านคือ  อ่าวไทยด้านตะวันออก ได้แก่ บริเวณฝั่งทะเลตั้งแต่จุดกึ่งกลางระหว่างปากแม่น้ำท่าจีนกับแม่น้ำเจ้าพระยาไปทางตะวันออก วกไปจนจรดเขตแดนกัมพูชา  บริเวณบ้านหาดเล็ก จังหวัดตราด รวมความยาวประมาณ  544 กิโลเมตร และอ่าวไทยด้านตะวันตก เริ่มจากจุดกึ่งกลางระหว่างปากแม่น้ำท่าจีนกับแม่น้ำเจ้าพระยาไปทางตะวันตก วกลงไปทางใต้จรดเตแดนประเทศมาเลเซีย ที่ปากแม่น้ำสุไหง-โกลก จังหวัดนราธิวาส ระยะทางยาวประมาณ  1,334 กิโลเมตร

           ส่วนฝั่งทะเลอันดามัน นับตั้งแต่ปากน้ำกระบุรี จังหวัดระนอง ซึ่งจรดกับเขตแดนของประเทศสหภาพพม่า เรื่อยลงไปทางใต้จนถึงเขตแดนของประเทศมาเลเซียที่จังหวัดสตูล ซึ่งอยู่ในช่องแคบมะละกา  ระยะทางยาวประมาณ 937 กิโลเมตร รวมความยาวชายฝั่งไทยทั้งหมดได้ประมาณ  2,815 กิโลเมตร
          พื้นที่ในทะเลซึ่งอยู่ระหว่างอ่าวไทยฝั่งตะวันออก บริเวณช่องแสมสาร จังหวัดชลบุรี  กับอ่าวไทยฝั่งตะวันตก บริเวณเหนืออำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จนถึงก้นอ่าวไทย เรียกว่า " อ่าวประวัติศาสตร์ "  บริเวณที่เรียกกันว่า ก้นอ่าวไทย คือ ชายฝั่งทะเลตั้งแต่ปากแม่น้ำแม่กลอง ท่าจีน  เจ้าพระยา  จนถึงบริเวณปากแม่น้ำบางปะกง  ซึ่งพื้นที่บริเวณนี้มีความอุดมสมบูรณ์และมีความหลากหลายทางชีวภาพ
          ลักษณะชายฝั่งของประเทศไทยส่วนมากเป็นหาดทรายที่มีความสูงไม่มากนัก  ส่วนบริเวณปากแม่น้ำและใกล้เคียงเป็นหาดทรายโคน หรือหาดทรายปนโคลน เนื่องจากมีความเคลื่อนไหวตลอดเวลา ทำให้เกิดการยกตัวสูงขึ้น หรือบางแห่ง ก็ยุบจมต่ำลง ลักษณะชายฝั่งทะเลจึงสามารถจำแนกได้เป็น  3  ประเภท  คือ















ภาพถ่ายดาวเทียม
บริเวณอ่าวประวัติศาสตร์

 

1.  ชายฝั่งทะเลยกตัว  (Emerged shoreline)  เป็นชายทะเลที่เกิดขึ้นจากการที่เปลือกโลกยกตัวขึ้น หรือฝั่งทะเลลดระดับลง  ทำให้บริเวณที่เคยจมอยู่ใต้ระดับน้ำทะเลโผล่ผิวน้ำขึ้นมา รูปร่างของแนวชายฝั่งมักเรียบตรง ไม่ค่อยเว้าแหว่งมาก  ชายฝั่งแบบนี้มีตัวอย่างเห็นได้ในภาคใต้ฝั่งตะวันออกด้านอ่าวไทย
2.  ชายฝั่งทะเลยุบตัว  (Submerged shoreline)  เป็นลักษณะของชายฝั่งที่เปลือกโลกมีการยุบระดับต่ำลง  ทำให้น้ำทะเลไหลเข้ามาท่วมบริเวณผืนแผ่นดินมาแต่เดิม ชายฝั่งทะเลประเภทนี้ส่วนใหญ่มักเป็นหน้าผาชัน ไม่ค่อยมีที่ราบชายฝั่ง  และแนวชายฝั่งมีลักษณะเว้าแหว่งมาก หากลักษณะภูมิประเทศเดิมเป็นภูเขา  เมื่อเกิดการยุบจมมักเกิดเป็นเกาะต่างๆ ลักษณะชายฝั่งทะเลยุบตัวที่เห็นได้ชัดเจน  เช่น ชายฝั่งบริเวณจังหวัดระนอง  พังงา  ภูเก็ต กระบี่  ตรัง  และสตูล  นอกจากนี้แม่น้ำที่ไหลลงสู่ทะเล ส่วนมากจะมีปากแม่น้ำกว้างเป็นพิเศษ  ซึ่งเรียกปากน้ำชนิดนี้ว่า  ชะวากทะเล  ตัวอย่างเช่น บริเวณปากแม่น้ำกระบุรี  จังหวัดระนอง  เป็นต้น
3.  ชายฝั่งทะเลคงระดับ  (Neutral shoreline)  เป็นลักษณะชายฝั่งที่เปลือกโลกไม่มีการเคลื่อนไหวมาเป็นเวลานาน  ทำให้แนวชายฝั่งอยู่คงที่  มีการเปลี่ยนแปลงสภาพของฝั่งตามสภาพปกติ ดังเช่น บริเวณดินดอนปากแม่น้ำเจ้าพระยา
          จากพลังของคลื่น ลม และกระแสน้ำที่กระทบชายฝั่งตลอดเวลา  จึงเกิดการกัดเซาะชายฝั่งให้สึกกร่อนพังทลายไป  และบางส่วนอาจเกิดการตกตะกอนทับถม จึงทำให้รูปร่างของชายฝั่งทะเลแตกต่างกันไป  ชายฝั่งที่เกิดการกัดเซาะ โดยมากมักเป็นบริเวณชายฝั่งทะเลน้ำลึก ลักษณะชายฝั่งลาดชันลงสู่ท้องทะเล ทำให้เกิดการกัดเซาะของคลื่นลม และกระแสน้ำเป็นไปอย่างรุนแรง  เกิดเป็นภูมิประเทศต่างๆ คือ
          หน้าผาชันริมทะเล  (
Sea Cliff)  เป็นบริเวณชายฝั่งที่มีภูเขาหรือเทือกเขาอยู่ติดทะเล หรือชายฝั่งที่เป็นชั้นหินวางตัวในแนวเอียงเทหรือในแนวตั้ง  คลื่นจะกัดเซาะฝั่งทำให้เกิดเป็นหน้าผาริมทะเลขึ้น มักเกิดขึ้นในบริเวณชายฝั่งทะเลยุบตัว  เห็นได้ชัดเจนบริเวณชายทะเลฝั่งดันดมัน
          เว้าทะเล  (
Sea Notch)  เป็นรอยเว้าในแนวระดับขนานไปกับระดับน้ำทะเลเป็นทางยาว  เกิดขึ้นบริเวณฐานของหน้าผาชันริมทะเล จากการกัดเซาะของคลื่นและการกัดกร่อนละลายของหินผา  ใช้เป็นหลักฐานแสดงถึงระดับน้ำทะเลในอดีตได้

ชายฝั่งทะเลยกตัว อุทยานแห่งชาติหาดวนกร
จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

ชายฝั่งทะเลยุบตัว อุทยานแห่งชาติเขาหลัก-ลำรู่
จังหวัดพังงา - ระนอง

หน้าผาชันริมทะเล อ่าวมะค่า
อุทยานแห่งชาติหาดวนกร

เว้าทะเล อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม

อ่านต่อ