กลับไปหน้าก่อน  

อ่านหน้าต่อไปสิคะ 

วัยสูงอายุ (ต่อ)

  • การสูญเสียรายได้   ดังที่กล่าวมาแล้วเมื่อถูกปลดเกษียณ งานการก็ไม่มีทำ  รายได้ที่เคยได้รับก็พลอยหมดไปด้วย ดีที่การทำราชาการหรือบริษัทบางบริษัทยังมีเงินสวัสดิการให้บ้างหลังจากเกษียณอายุแล้ว  เช่น  เงินบำนาญ หรือเงินช่วยเหลืออื่นๆ เช่นการรักษาพยาบาล เป็นต้น
    ด้วยเหตุนี้จึงทำให้คนที่ถูกปลดเกษียณมีความรู้สึกว่าตนเองขาดรายได้จากที่เคยมี และมักจะมีความวิตกกังวลกับค่าใช้จ่ายในอนาคตว่าจะหารายได้จากที่ไหนมาทดแทนหรือจุนเจือ บางคนที่รู้จักสะสมเงินทองไว้บ้างก็ค่อยยังชั่ว  คนที่ไม่มีโอกาสสะสมเงินทองไว้ก่อนก็จะมีปัญหา  และนำมาสู่ความวิตกกังวลทำให้กินไม่ได้นอนไม่หลับ และอาจะเป็นสาเหตุของโรคต่างๆ และการทำให้สุขภาพทรุดโทรมลงได้

  • การสูญเสียอนาคต   คนที่ปลดเกษียณแล้วก็หมดอนาคตสร้างความเจริญก้าวหน้าให้แก่ตนเอง  เพราะไม่มีใครเขาจ้างทำงานต่อไป  แม้จะมีคนจ้างก็คงจะเป็นงานที่ไม่เกี่ยวกับการสร้างอนาคตของตนเอง  ด้วยเหตุนี้คนที่ถูกปลดเกษียณก็เสมือนกับต้องดับอนาคตตนเอง  ชีวิตต่อไปหลังเกษียณจึงเป็นชีวิตที่อาจจะอยู่ไปวันหนึ่งๆ โดยไม่มีเป้าหมายในอนาคตของตนเอง

  • การสูญเสียฐานะ   การปลดเกษียณจะส่งผลกระทบต่อฐานะของผู้นั้นไม่มากก็น้อย  ยิ่งมีปัญหาด้านการเงินการทองด้วยแล้ว ผู้นั้นจะมีการสูญเสียทางด้านฐานะของตนเองค่อนข้างมาก และอาจทำให้คนๆ นั้นคิดมากจนกลายเป็นโรคประสาทหรือโรคอื่นๆ ได้ง่าย และอาจนำไปสู่การสิ้นสุดชีวิตได้เช่นเดียวกัน

  • การสูญเสียเกียรติยศชื่อเสียง   ในสมัยที่ยังทำงานอยู่ อาจจะเป็นคนที่มีเกียรติยศและชื่อเสียง  เป็นที่ยกย่องเคารพนับถือของคนอื่น แต่เมื่อปลดเกษียณแล้วเกียรติยศที่เคยมี หรือชื่อเสียงที่เคยมีก็จะลดน้อยลงไปหรือหายไป  ทำให้เกิดความรู้สึกสะเทือนใจต่อผู้ถูกปลดเกษียณที่จะไม่มีโอกาสได้รับการปฏิบัติจากผู้อื่นเช่นในอดีต  หากผู้นั้นไม่เตรียมตัวเตรียมใจ หรือทำใจไม่ได้ ปัญหาก็จะมีมาก  ความรู้สึกเสียใจทุกข์ใจก็จะมีมาก จนอาจเป็นการทำลายสุขภาพของตนเองได้

  • การสูญเสียทางสังคม   การยอมรับนับถือของสังคมในสมัยยังทำงานอยู่ กับสมัยหลังปลดเกษียณรู้สึกว่าตนต้องสูญเสียฐานะทางสังคมไปเป็นอย่างมาก  หากไม่คิดปลงเสียบ้างว่าสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นเป็นของปกติธรรมดา  มีเกิด แก่ เจ็บ  ตาย เมื่อมีได้ก็หมดได้ มีลาภก็เสื่อมลาภ  มีเกียรติก็เสื่อมเกียรติ  หากคิดได้ดังนั้นความรู้สึกสูญเสียทางสังคมก็จะน้อยลงไป

  • การสูญเสียเพื่อน   คนที่ถูกปลดเกษียณแล้วส่วนใหญ่ก็มักจะอยู่บ้าน จึงสูญเสียเพื่อนในที่ทำงาน  หรือที่เคยร่วมทำงานกันมาเป็นอันดับแรก  และตามมาด้วยการสูญเสียคนที่รู้จักนอกที่ทำงาน  และเผลอๆ แม้แต่เพื่อนนักเรียนที่เคยเรียนกันมาก็สูญเสียไปด้วย เพราะทุกคนต่างแยกกันอยู่  มิได้มีการติดต่อสังสรรค์กัน

  • สูญเสียความสนุกสนาน   เมื่อก่อนนี้ชีวิตรู้สึกว่าเต็มไปด้วยความอบอุ่น เพราะมีคนล้อมหน้าล้อมหลัง  มีคนคอยให้ความช่วยเหลือ มีคนอยากรู้จัก  แม่เมื่อปลดเกษียณไปแล้วความรู้สึกอบอุ่นดังกล่าวจะหมดไป  จะเหลือก็คงมีแต่ความว้าเหว่และความเศร้าสร้อยเงียบเหงา  เพราะขาดคนล้อมหน้าล้อมหลัง ไม่มีใครคอยให้ความช่วยเหลือและเอาใจใส่เช่นในอดีต

    การเปลี่ยนแปลงของวัยสูงอายุ
    คนเราเมื่อก้าวเข้าสู่วัยสูงอายุแล้วจะมีการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ของตัวเราอยู่หลายอย่างด้วยกัน  แต่ถ้าจำแนกการเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ แล้วจะพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ 2 อย่างด้วยกันคือ .-

          1.     การเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย   คนที่เข้าวัยมีอายุแล้วจะมีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายหลายอย่างด้วยกัน และที่สำคัญก็คือ

  • การเปลี่ยนแปลงของสีผม  คนที่เข้าสู่วัยชราแล้วผมที่เคยสีดำก็จะเปลี่ยนเป็นสีขาวหรือเรียกว่าผมหงอก บางคนผมหงอกมาก บางคนผมหงอกน้อย สุดแล้วแต่ละคนจะมีการแพ้ผมมากน้อยขนาดไหน หรือมีการดูแลรักษาผมดีขนาดไหน
    การเปลี่ยนแปลงของสีผมนับเป็นปรากฏการณ์ที่สำคัญในการบอกว่าคนเรานั้นเข้าวัยสูงอายุแล้วหรือยัง

  • การเปลี่ยนแปลงทางผิวหนัง   ลักษณะการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอีกอย่างของการก้าวเข้าสู่วัยสูงอายุก็คือการเปลี่ยนแปลงของผิวหนังหรือเนื้อหนัง  จะพบว่าคนที่เข้าสู่วัยสูงอายุจะมีผิวหนังเหี่ยวย่นและตกกระ อาการดังกล่าวจะปรากฎให้เห็นทั้งบนใบหน้าและตามลำคอของผู้นั้น
    การเปลี่ยนของผิวหนังนี้อาจรวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงของอวัยวะต่างๆ ของร่างกายที่มีผิวหนังเป็นส่วนประกอบด้วย ซึ่งจะสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจน

กลับไปหน้าก่อน

 

อ่านหน้าต่อไปสิคะ