กลับไปหน้าก่อน  

อ่านหน้าต่อไปสิคะ 

วัยสูงอายุ (ต่อ)

  • การเปลี่ยนแปลงของระบบสายตา   คนที่เข้าสู่วัยสูงอายุสายตาจะเปลี่ยนไป  บางคนสายตายาว บางคนสายตาสั้น แต่รวมความแล้วก็คือสายตาจะผิดไปจากปกติ ในขณะที่ยังเป็นหนุ่มเป็นสาว โดยเฉพาะคนที่มีอายุแล้วมักจะมีสายตายาว และมองอะไรไม่ค่อยเห็นต้องใช้แว่นช่วยจึงจะมองเห็นได้

  • การเปลี่ยนแปลงของระบบประสาท  ความรู้สึกต่างๆ ทางระบบประสาทจะช้าลง จะทำให้คนแก่มีความเชื่องช้าลงไปไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม โดยเฉพาะการยืน เดิน นั่ง วิ่ง อาจรวมถึงความกระฉับกระเฉงในการทำงานก็จะช้าลงด้วย
    อาการเชื่องช้าจึงนับว่าเป็นอาการที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของคนเข้าสู่วัยสูงอายุ  แต่ก็มีคนแก่บางคนพยายามฝืนใจกับความเชื่องช้าดังกล่าว  ด้วยการพยายามทำตัวให้กระฉับกระเฉงและทำอะไรอย่างรวดเร็ว เพื่ออวดตัวเองว่าไม่ใช่คนแก่  แต่ก็เป็นสิ่งที่น่าเสียใจที่การกระทำดังกล่าวบางครั้งก็เป็นอันตรายต่อสุขภาพหรือชีวิตของตนเอง

  • การเปลี่ยนแปลงของระบบเสียงหรือการได้ยิน   คนที่มีอายุแล้วมักพบว่าระบบเสียงไม่ดีเท่าที่ควร  บางคนก็เลยกลายเป็นคนหูตึงไปก็มี  แต่ก็เป็นที่น่าดีใจ ปัจจุบันหูฟังวิทยาศาสตร์สามารถช่วยแห้ปัญหานี้ได้มาก

  • การเปลี่ยนแปลงของโครงกระดูและข้อต่อ   คนที่มีอายุแล้วมักจะมีปัญหาเรื่องการปวดข้อหรือปวดเข่า  เพราะเกิดมีการเปลี่ยนแปลงของอวัยวะดังกล่าว การให้ความระมัดระวังต่อการบริโภคอาหาร และการหมั่นออกกำลังกายเป็นประจำจะมีส่วนช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้เป็นอย่างดี

  • การเปลี่ยนแปลงของระบบย่อยอาหาร   การเปลี่ยนแปลงของระบบย่อยอาหารที่สำคัญคือฟัน  ซึ่งนับว่าเป็นปัญหาที่สำคัญของคนที่มีอายุแล้ว รองลงมาก็คือการย่อยอาหารในกระเพาะและลำไส้ ตลอดจนระบบการดูดซึมเอาสารอาหารไม่ใช้ของอวัยวะดังกล่าวด้วย
    การพยายามรักษาฟันให้ดีเมื่อมีอายุแล้วจึงนับว่าเป็นเรื่องสำคัญและควรระมัดระวัง  การบริโภคอาหารที่มีคุณค่าและย่อยง่ายก็จะช่วยรักษาระบบการย่อยอาหารได้เป็นอย่างดี

  • การเปลี่ยนแปลงของระบบขับถ่าย   การเปลี่ยนแปลงของระบบขับถ่าย ก็นับว่าเป็นลักษณะการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของคนที่สูงอายุแล้ว ซึ่งผู้สูงอายุจำเป็นจะต้องเรียนรู้ เพื่อให้ระบบขับถ่ายของร่างกายอยู่ในสภาพที่ดีต่อไป

  • การเปลี่ยนแปลงของระบบสูบฉีดโลหิต   ปัญหาเรื่องความดัน ปัญหาของโคเลสเตอรอล ปัญหาหลอดเลือดตีบ ปัญหาการทำงานของหัวใจ นับว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่มักจะพบเสมอในผู้สูงอายุที่ควรจะได้ให้ความระมัดระวัง  และปฏิบัติเอาใจใส่ตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด

  • การเปลี่ยนแปลงของระบบสมอง   คนที่มีอายุแล้วความจำมักจะเสื่อมลงและกลายเป็นคนขี้หลงขี้ลืมเป็นประจำ  ซึ่งอาการนี้จะพบได้ในคนที่เข้าสู่วัยสูงอายุแล้วทั่วไป
    อาการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายของคนเข้าสู่วัยสูงอายุนั้น ความจริงยังมีอีกหลายอย่าง  แต่ที่สำคัญก็มีดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น  ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจของผู้ที่มีอายุเข้าสู่วัยสูงอายุ จะได้มีความระมัดระวังสุขภาพของตัวเองเอาไว้บ้าง

           2.    การเปลี่ยนแปลงทางจิตใจ
           อาการการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของผู้ที่เข้าสู่วัยสูงอายุ ก็คือการเปลี่ยนแปลงทางด้านจิตใจ   ซึ่งบางครั้งก็มีมากบางครั้งก็มีน้อย  และบางครั้งก็สร้างความเจ็บปวดหรือความทุกข์ให้แก่ผู้สูงอายุได้  การจะได้เรียนรู้ถึงปัญหาดังกล่าวและหาทางแก้ไขป้องกันไว้ล่าวงหน้าบ้างก็จะดี
           อาการเปลี่ยนแปลงทางด้านจิตใจที่สำคัญก็คือ

  • อารมณ์เสีย    คนที่สูงอายุมักจะมีอารมณ์เสียบ่อยๆ จนกลายเป็นคนโมโหหงุดหงิด  เพราะขาดสิ่งที่เคยได้และขาดสิ่งที่เคยมี  จึงมักแสดงอารมณ์เสียออกมาเป็นการทดแทน  นอกจากนั้นยังอารมณ์เสียกับตนเองในสิ่งที่เคยทำ แต่เมื่อมีอายุมากแล้วอาจทำไม่ได้อย่างที่อยากทำ  จึงระบายออกมาทางอารมณ์

  • ความน้อยใจ   คนที่มีอายุมักจะเป็นคนขี้น้อยใจ  โดยเฉพาะคนที่เคยมีผู้เอาใจใส่ดูแลในขณะที่ยังทำงานอยู่ เมื่อปลดเกษียณแล้วก็ต้องอยู่ตามลำพัง ขาดคนเอาใจใส่ดูแล จึงมีความน้อยใจว่าไม่มีคนรัก ไม่มีคนดูแล

  • โกรธง่าย   คนที่มีอายุนอกจากจะเป็นคนขี้น้อยใจแล้ว มักจะเป็นคนโกรธง่าย อะไรนิดอะไรหน่อยก็โกรธ ใครพูดไม่ดีหน่อยก็โกรธ ใครทำอะไรไม่ได้ไม่ดีหน่อยก็โกรธ  บางทีก็คิดมากไปเอง ทั้งๆ ที่ไม่มีใครพูดหรือทำให้ เพราะมีความระแวงตลอดเวลาว่าเราแก่แล้ว คนเขาไม่ต้องการเรา คนเขาไม่ชอบเรา จึงหาทางตอบโต้เขาด้วยการแสดงความโกรธออกมาแทน

  • เศร้าสร้อย   คนที่ปลดเกษียณแล้ว   เมื่อไม่มีงานทำมักจะนั่งเศร้าสร้อยคิดถึงชีวิตของตนเอง  ว่าจะดำรงต่อไปได้อย่างไร เพราะขาดงาน ขาดเงิน ขาดเพื่อน  และถ้าเจ็บไข้ได้ป่วยจะทำอย่างไร มองดูถึงปัญหาต่างๆ ที่จะเกิดกับตนในอนาคต มองหาคนที่จะพึ่งว่าคงยากเต็มทีที่จะพึ่งใคร จึงมีแต่ความเศร้าสร้อยกับชีวิตของตนเอง

  • ความกังวลใจ   คนที่มีอายุแล้วมักจะมีความกังวลใจเกี่ยวกับชีวิตในอนาคตของตนเอง โดยเฉพาะความกังวลใจเรื่องเงินทอง เรื่องสุขภาพ เรื่องที่อยู่อาศัย นอกจากนี้ยังอาจกังวลใจเกี่ยวกับลูกหลานเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

  • ความเครียด   จากปัญหาความกังวลใจดังกล่าวข้างต้น เมื่อคิดมากๆ เข้าก็กลายเป็นความเครียด  ทำให้กินไม่ได้นอนไม่หลับ ดังจะเห็นได้จากคนแก่ที่มักบ่นเสมอๆ ว่านอนไม่ค่อยหลับ เพราะความกังวลใจในสิ่งต่างๆ มากเกินไป  และมีบ่อยครั้งที่ความเครียดเกิดขึ้นทำให้เป็นโรคต่างๆ ได้ง่าย เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเส้นเลือดแตกในสมอง  โรคหัวใจล้มเหลว หรือโรคกระเพาะ เป็นต้น บางคนก็กลายเป็นโรคประสาทไปเลยก็มี

กลับไปหน้าก่อน

 

อ่านหน้าต่อไปสิคะ