** ดาวเทียมเฉลิมพระเกียรติ **

HOME

 
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสนพระทัยในเรื่องของ ดาวเทียม มาตั้งแต่ครั้งที่ กรมไปรษณีย์โทรเลข ได้เริ่มใช้ดาวเทียม อินเทลสตาร์ เพื่อการติดต่อสื่อสารในปี 2510 และมีการสร้างสถานีภาคพื้นดินที่ ตำบลศุขลา อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ต่อมาในปี 2522 ได้มีการเช่าสัญญาณวงจรดาวเทียม ปาลาปา ของอินโดนีเซีย มาใช้เพื่อการสื่อสารภายในประเทศ และถ่ายทอดสัญญาณโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ไปยังพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ทรงศึกษาและติดตามความก้าวหน้า ของวิทยาการดาวเทียมนี้อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการนำดาวเทียม มาใช้เพื่อประโยชน์ในการสำรวจทรัพยากรธรรมชาติ การแก้ไขปัญหาการใช้ที่ดินในแหล่งต้นน้ำลำธารบนภูเขาสูง รวมถึงการใช้ดาวเทียมตรวจสอบสภาพอากาศ ซึ่งต่อมาหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้น้อมนำแนวพระราชดำริไปเป็นแนวทางในการปฏิบัติ ก่อให้เกิดประโยชน์ในด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ การจัดสรรที่ดินทำกินให้แก่เกษตรกร การรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศชาติ และการพยากรณ์อากาศ

นอกจากนี้แล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ยังทรงใช้ดาวเทียมเพื่อการศึกษาอีกด้วย โดยได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ กระทรวงศึกษาธิการ ถ่ายทอดการเรียนการสอนวิชาต่างๆ จากโรงเรียนวังไกลกังวล หัวหิน ที่มีความพร้อมทุกด้านผ่านดาวเทียม ไปยังเครื่องรับโทรทัศน์ของโรงเรียนในชนบท ที่ขาดแคลนครูและอุปกรณ์การสอน ซึ่งการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมนี้ได้เริ่มมาตั้งแต่ปี 2538 ด้วยการที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานเงินจำนวน 50 ล้านบาท ที่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ทูลเกล้าฯ ถวาย เป็นทุนประเดิมในการดำเนินงาน เพื่อจัดตั้งสถานีส่งโทรทัศน์ขึ้นในเขตพระราชฐานที่ โรงเรียนวังไกลกังวล แล้วส่งสัญญาณออกอากาศถ่ายทอดการสอนวิชาทั้งสายสามัญและวิชาชีพ ในระดับชั้นมัธยมศึกษารวมทั้งอาชีวศึกษา โดยเฉพาะวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และ ภาษาต่างประเทศ ไปตามสายใยแก้วนำแสงเข้าสู่สถานีดาวเทียมภาคพื้นดินที่จังหวัดนนทบุรี แล้วยิงสู่ดาวเทียมแพร่ภาพไปยังโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศ

ต่อมารัฐบาลได้มีนโยบายที่จะให้ประเทศไทย มีดาวเทียมเพื่อการสื่อสารเป็นของตนเอง แทนการใช้ดาวเทียมปาลาปาที่เช่าจากอินโดนีเซียโดยให้ กระทรวงคมนาคม เป็นเจ้าของโครงการและเอกชนเป็นผู้ลงทุน แต่ตัวดาวเทียม สถานีควบคุมภาคพื้นดินและอุปกรณ์ต่างๆ ที่ลงทุนให้เป็นทรัพย์สินของรัฐ โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อดาวเทียมดวงแรกของไทยว่า ไทยคม ซึ่งย่อมาจากคำว่า ไทยคมนาคม และได้มีการปล่อยดาวเทียมไทยคม ขึ้นสู่วงโคจรเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2536 ณ ศูนย์อวกาศกีอานา เมืองคูรู ประเทศฝรั่งเศส ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปทรงทอดพระเนตร รวมทั้ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นประธานในพิธีเปิด สถานีควบคุมดาวเทียมไทยคมภาคพื้นดิน ที่ถนนรัตนาธิเบศร์ อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2537 อีกด้วย

สำหรับดาวเทียมของไทยที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ให้บริการด้านโทรคมนาคมเพื่อการสื่อสารมีทั้งหมดรวม 4 ดวง โดยดวงที่ 4 คือ ดาวเทียมไทยคม 4 (ไอพีสตาร์) ส่งขึ้นสู่วงโคจรเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2548 ให้บริการอินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์ในพื้นที่ห่างไกล ลดความแตกต่างทางด้านการเข้าถึงโทรคมนาคม ระหว่างพื้นที่ในเมืองกับชนบทของประเทศ รวมทั้งนำไปใช้ยามที่เกิดพิบัติภัยต่างๆ ในกรณีที่เครือข่ายการสื่อสารภาคพื้นดินขัดข้อง ไม่สามารถให้บริการได้ อย่างเช่น กรณีการเกิดธรณีพิบัติจากคลื่นสึนามิ เมื่อปลายปี พ.ศ.2547 และอุทกภัยครั้งร้ายแรงในภาคเหนือปี พ.ศ.2548 ทำให้การติดต่อช่วยเหลือเป็นไปด้วยความล่าช้า เพราะไม่สามารถที่จะติดต่อกันได้โดยสะดวก เมื่อมีดาวเทียมย่อมจะทำให้การติดต่อสื่อสารเพื่อการช่วยเหลือ ดำเนินการได้อย่างรวดเร็วทันต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น นอกจากนี้แล้ว การพัฒนาทางด้านดาวเทียมเพื่อการสื่อสาร ยังเป็นสื่อที่ช่วยทำให้ความแตกต่างทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา วัฒนธรรม และการป้องกันรักษาโรคต่างๆ ระหว่างชุมชนเมืองกับชนบทลดน้อยลงอีกด้วย

แต่อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าประเทศไทย จะมีดาวเทียมเป็นของตนเองถึง 4 ดวง ก็เป็นดาวเทียมที่ให้บริการด้านโทรคมนาคมเพื่อการสื่อสาร ยังไม่มีดาวเทียมเพื่อการสำรวจทัพยากรธรรมชาติ ตามแนวพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ดังนั้น กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ซึ่งเป็นองค์การมหาชน ภายใต้ความร่วมมือทางด้านเทคโนโลยีอวกาศ ระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลฝรั่งเศส จึงได้จัดสร้างดาวเทียมสำรวจทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อนำข้อมูลภาพถ่านดาวเทียมที่เรียกว่า ออร์โธโฟโต้ มาใช้ในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เกี่ยวกับการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ เป็นประโยชน์แก่หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่ดิน ป่าไม้ แหล่งน้ำ การประมง การป้องกันประเทศ การรักษาความมั่นคงของชาติ การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รวมถึงการพยากรณ์สภาพอากาศและอื่นๆ

ดาวเทียมสำรวจทรัพยากรธรรมชาติดวงแรกของไทยที่ชื่อ ธีออส จะถูกส่งขึ้นสู่วงโคจรจากฐานยิงเมืองยาสนี ประเทศรัสเซีย ในเดือนพฤศจิกายนนี้ เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในฐานะที่ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ทรงสนพระทัย ในเทคโนโลยีสื่อสารผ่านดาวเทียม และพระราชทานพระราชดำริในการใช้ดาวเทียม เพื่อสำรวจทรัพยากรธรรมชาติ เนื่องในปีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา โดย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จะจัดกิจกรรมเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ เกี่ยวกับประโยชน์จากข้อมูลดาวเทียม ธีออส ที่นำไปประยุกต์ใช้ในการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ ณ สถานีควบคุมและรับสัญญาณดาวเทียม อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี รวมทั้งศูนย์ภูมิภาคจังหวัดเชียงใหม่ พิษณุโลก ขอนแก่น ชลบุรี สงขลา ศูนย์ประชุมและศูนย์การเรียนรู้ต่างๆ ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล นอกจากนี้แล้ว จะมีการถ่านทอดสดเกี่ยวกับการปล่อยดาวเทียม ธีออส ขึ้นสู่อวกาศ ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจด้วย

โอภาส เสวิกุล เรียบเรียง