กลับหน้าหลัก

Home

หน้า  1   2   3   4 

3

         หลักการอบรมลูกฝาแฝดของแม่  โดยที่เกิดมาเป็นลูกฝาแฝดแม่สอนให้ระลึกอยู่เสมอว่าเราเป็นพี่ใหญ่ พี่ชายคนโต  "จะต้องเป็นผู้เสียสละ" และมีความกรุณาต่อน้องๆ ฉะนั้นอะไรๆทุกสิ่งทุกอย่างก็จะต้องเป็นของน้องก่อน  น้องจะต้องได้ก่อนทุกครั้งไป เท่าที่จำได้แม้กระทั่งเข้าเรียนที่โรงเรียนเซนต์คาเบรียล เมื่อเข้าชั้นประถมปีที่ ๓ ต่อจาก ร.ร.ราชินี ได้เลขประจำตัวยังอยู่หลังน้อง ซึ่งใครๆก็เลยนึกว่าเป็นน้อง อีกประการหนึ่งแม่เล่าว่าน้องนั้นคลอดยาก  ไม่แข็งแรง  เมื่อคลอดนั้นเท้าออกมาก่อน ออกมาก็ไม่หายใจ หมอต้องแก้ไขอยู่สักพักหนึ่งจึงร้องออกมา น้องก็เลยได้รับการทะนุถนอมเอาอกเอาใจจากทุกๆคนเป็นพิเศษ เคยตัวมาเรื่อยๆ จนกระทั่งโตทุกวันนี้ แม่เรียกน้องว่า "ตุ่ยหลุ่ย" เรียกพี่ว่า "ต้อยล่อย" ก่อนได้ชื่อพระราชทาน ขณะนี้ไม่มีแม่แล้วลูกก็ยังจำคำสอนนี้ได้ดี และจะปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด

          แม่สอนให้ลูกๆ พึงสำรวมในกริยามารยาท  โดยให้ท่องจำว่า "สำเนียงบอกภาษา  กริยาบอกสกุล "  พอลูกส่งเสียงดังเกินไป หรือทำกริยาท่าทางไม่สุภาพก็จะเรียกไปให้ท่องจำและสอบถามซ้ำอยู่เนืองๆ 

          แม่พิถีพิถันในเรื่องการรับประทาน  ในเรื่องอาหารการรับประทาน แม่จะอบรมสั่งสอนให้รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายมากที่สุด  และหาซื้ออาหารดีๆ มีประโยชน์มาให้รับประทานเสมอ  เมื่อตอนเด็กๆ ถูกแม่บังคับให้รับประทานข้าวโอ๊ดกับนมสดทุกเช้าก่อนไปโรงเรียน  ถ้ารับประทานไม่หมดไม่ให้ไปโรงเรียนเพราะป่วย ถ้าไม่ป่วยก็ต้องรับประทานได้ อีกประการหนึ่งให้ระลึกเสมอว่า "อิ่มก่อนไปดูโขนดูหนัง อิ่มทีหลังล้างถ้วยล้างชาม" จะได้รับประทานอาหารให้แล้วเสร็จทันคนอื่น

          แม่สอนให้ประหยัด  แม่ให้ลูกปักชื่อโรงเรียนบนกระเป๋าเสื้อนอกเอง เมื่อลูกเป็นยุวชนทหารก็ให้ปักชื่อโรงเรียน และหมายเลขประจำตัวเอง ถุงเท้าขาด กางเกงขาด ก็ให้ชุนเอง  จนกระทั่งปะกางเกงเอง เมื่อสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ ให้ทำขนมโดนัท เก็บผักสวนครัวขาย  เก็บเงินไว้ซื้อของที่อยากได้ เช่น รถจักรยาน ก็ต้องซื้อเอง  สมัยนั้นไปโรงเรียนได้รับเงินไปวันละครึ่งสตางค์ หนึ่งสตางค์ สามสตางค์ และห้าสตางค์ โดยให้หิ้วปิ่นโตนำอาหารกลางวันไปรับประทานเองด้วย จะซื้อรองเท้า ซื้อกางเกง ก็จะต้องเผื่อโตเสมอ ก็เลยติดเป็นนิสัยไม่สนใจเรื่องการแต่งตัวมาจนบัดนี้

          ก่อนไปศึกษาต่อ ณ ต่างประเทศ  แม่สอนให้รู้จัก " อดทน แต่อย่าอ่อนแอ " แม่ก็ได้กระทำตนเป็นตัวอย่างตั้งแต่เป็นแม่ลูกกันจนตายจากกันไป โดยลักษณะที่แม่ต่อสู้ทุกสิ่งทุกอย่าง แม้โรคภัยไข้เจ็บด้วยความอดทนยอดเยี่ยม

          แม่สอนให้ " แข็งแรง แต่อย่าแข็งกระด้าง " ให้รู้จักรักษาสุขภาพอนามัยให้ดี จะกิน จะนั่ง จะนอน จะเดิน ให้ระมัดระวังทุกสิ่งทุกอย่าง  หากสุขภาพอนามัยดีร่างกายก็จะแข็งแรง แต่กริยาท่าทางก็จะต้องไม่แข็งทื่อ หมายความว่าจะต้องเป็นไปด้วยความนอบน้อมและนุ่มนวล  ข้าพเจ้าจำได้ว่าครั้งหนึ่งถูกจับไปโรงพัก เนื่องจากขับรถผิดกฎจราจร  เพราะเพิ่งกลังมากจากต่างประเทศ เกือบจะถูกเจ้าหน้าที่ซ้อมเอา ซึ่งขณะนั้นเป็นแฟชั่นก็เพราะกริยาท่าทางนุ่มนวลเกินไป  ถ้าเบ่ง (แข็งกระด้าง) สักหน่อยตอนนั้นก็คงไม่มีเรื่อง มัวแต่เป็นลูกที่ดีเกือบจะเจ็บตัว เพราะลูกทำตัวไม่ทันสมัยเลย

          แม่มีวิธีป้องกันลูกจากการถูกนินทา ว่าร้าย  แปลกกว่าบุคคลอื่นๆ ซึ่งแม่ต้องแก้แทนลูกเสมอ แต่แม่กลับจะช่วยสนับสนุน และส่งเสริมการนินทาว่าร้ายนั้น  จนทำให้ผู้กล่าวหาเลิกลาไปเอง  บางครั้งก็จะนำมาเล่าให้ลูกฟังด้วยความหวังดี และตักเตือนสั่งสอนลูก  เพื่อคนอื่นจะได้ไม่นำไปว่าอะไรอีก  บางครั้งก็จะเก็บกดอยู่ในความรู้สึกที่เป็นห่วงลูกๆ