พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชมาเป็นเวลาช้านาน ก่อนคำว่าความหลากหลายทางชีวภาพ (biological diversity) และการอนุรักษ์ (conservation) จะเป็นที่รู้จักกันดีในประเทศไทย  จากการแปรพระราชฐานไปประทับ ณ วังไกลกังวล หัวหิน ในปี พ.ศ. 2503 เมื่อเสด็จผ่านอำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี ทอดพระเนตรสองข้างทางเห็นต้นยางขนาดใหญ่ขึ้นเป็นจำนวนมาก ทรงมีพระราชดำริที่จะสงวนป่ายางนี้ไว้ด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ แต่ไม่สามารถดำเนินการได้  เนื่องจากมีราษฎรเข้าไปทำไร่ทำสวนในบริเวณดังกล่าว

มาก จะต้องจ่ายเงินทดแทนในการจัดหาที่ใหม่  เมื่อไม่สามารถจัดถวายได้ตามพระราชประสงค์จึงทรงทดลอง

ปลูกต้นยางเอง  โดยทรงเพาะเมล็ดยางที่เก็บจากต้นยางนาในเขตอำเภอท่ายาง ในกระถางบนพระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล หัวหิน และทรงปลูกต้นยางนาเหล่านั้นในแปลงทดลองป่าสาธิตใกล้พระตำหนักเรือนต้น สวนจิตรลดา  พร้อมข้าราชบริพาร เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2504 จำนวน 1,250 ต้น ซึ่งเป็นวันคล้ายวันประสูติสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฏราชกุมาร ต้นยางที่ท่ายางสูญสิ้น แต่พันธุกรรมของยางนาเหล่านั้น ยังอนุรักษ์ไว้ได้ที่สวนจิตรลดา

     ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำพรรณไม้จากภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ มาปลูกในบริเวณที่ประทับ สวนจิตรลดา เพื่อให้เป็นที่ศึกษาพรรณไม้ของนิสิต นักศึกษา แทนที่จะต้องเดินทางไปทั่วประเทศ ในปี 2539 สำนักงานเอกลักษณ์แห่งชาติได้จัดทำหนังสือ สวนจิตรลดาพฤกษาพรรณ ซึ่งเป็นหนังสือเกี่ยวกับพืชพรรณไม้ในสวนจิตรลดากว่า 200 ชนิด
     ในวันพืชมงคล 9 พฤษภาคม พ.ศ.2528 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดอาคารห้องปฏิบัติการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช ที่โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา และทรงมีพระราชกระแสให้อนุรักษ์ต้นขนุนหลังพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ในพระบรมมหาราชวัง ความสำเร็จของการใช้วิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช อนุรักษ์ต้นขนุน และพืชเอกลักษณ์ของพระราชวังต่างๆ เช่น พุดสวน มณฑา ยี่หุบ สมอไทย  มีการพัฒนาเทคโนโลยีการเก็บรักษาในสภาวะปลอดเชื้อ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในอนาคต

           

     ทรงให้อนุรักษ์พันธุกรรมหวาย ในปี พ.ศ.2529 ทรงพระราชทานให้โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา อนุรักษ์และขยายพันธุ์หวายชนิดต่างๆ โดยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เพื่อเตรียมการแก้ปัญหาการขาดแคลนหวายในอนาคต หวายที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ พระราชทานพระรบรมราชานุญาต ให้ทำการทดลองปลูกต้นหวายเหล่านั้นในป่ายางนา ใกล้พระตำหนักเรือนต้น สวนจิตรลดา และมีพระราชดำริให้ทดลองปลูกที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ฯ จังหวัดเชียงใหม่  และที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ จังหวัดสกลนคร
     ในปี พ.ศ.2529 นอกจากมีพระราชดำริให้มีการอนุรักษ์พันธุกรรมหวายแล้ว ยังได้จัดให้มีการรวบรวมพืชสมุนไพรมาปลูกเป็นแปลงสาธิตในโครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดาอีกด้วย ได้รวบรวมข้อมูลสรรพคุณตลอดจนการนำไปใช้ประโยชน์ กับทั้งให้มีการศึกษาการขยายพันธุ์พืชสมุนไพรโดยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ และเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน
     เมื่อวันที่ 6 กรกฏาคม 2531 ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชกระแสกับหม่อมเจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธ์  ให้ดำเนินการผสมพันธุ์ผักสองชั้น
(Double Hybridization) ขึ้นในศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และห้องปฏิบัติการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช ของโครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา  ดำเนินการผสมพันธุ์ผักสองชั้นไปพร้อมกันด้วย

         

     สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงสืบต่องานอนุรักษ์พันธุกรรมพืช โดยในเดือนมิถุนายน 2535 ทรงมีรึบสั่งกับนายแก้วขวัญ วัชโรทัย เลขาธิการพระราชวัง และผู้อำนวยการโครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา ให้ดำเนินการอนุรักษ์พืชพรรณของประเทศ และให้ดำเนินการเป็นธนาคารพืชพรรณ การนี้ได้มอบให้โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา ฝ่ายวิชาการดำเนินงาน โดยสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ ได้สนับสนุนงบประมาณดำเนินการมาตั้งแต่ต้นจนถึงปัจจุบัน รวมถึงมีผู้มีจิตศรัทธาทูลเกล้าฯ ถวายเงิน น้อมเกล้าถวายอุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ ร่วมสนับสนุนการดำเนินงาน
     ตามที่ทรงมีพระราชดำริให้ดำเนินการอนุรักษ์พืชพรรณของประเทศ และดำเนินการเป็นธนาคารพืชพรรณ ทรงมีพระราชดำริพระราชทานแนวทางการดำเนินงาน พระราชวินิจฉัยเป็นระยะๆ มาโดยตลอด จากที่ทรงเสด็จพระราชดำเนินในพื้นที่ต่างๆ ทรงสนพระทัยในพืชพรรณ ในการเสด็จศึกษาพืชพรรณไม้ การทอดกพระเนตรสวนพฤกษศาสตร์ในต่างประเทศ
     โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ดำเนินงานโดยยึดพระราชดำริ และแนวทางที่พระราชทานเป็นหลักดำเนินการต่อเนื่องในกิจกรรมปกปักพันธุกรรมพืช  สำรวจเก็บรวบรวมพันธุกรรมพืช ปลูกรักษาพันธุกรรมพืช อนุรักษ์และใช้ประโยชน์พันธุกรรมพืช ศูนย์ข้อมูลพันธุกรรมพืช วางแผนและพัฒนาพันธุกรรมพันธุ์พืช สร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช และกิจกรรมพิเศษสนับสนุนการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช โดยมีหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องร่วมดำเนินงานสนองพระราชดำริมากกว่า 40 หน่วยงานและมีโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงาน ซึ่งมีการดำเนินงานมาแล้วรวม 3 ห้วงเวลา ได้แก่ ระยะที่ 1 ระหว่างปี 2535-2539 ระยะที่ 2 ระหว่างปี 2540-2544 และระยะเวลาที่ 3 ระหว่างปี 2545-2548

หน้าหลัก Home

ตามรอยเท้าพ่อ