อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
     ปลายปี พ.ศ. 2540 กองทัพเรือได้น้อมเกล้าฯ ถวายเกาะแสมสารเข้าร่วมสนองพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  ในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ (อพ.สธ.)
     โดยเหตุที่ทรงมีพระราชดำริจะให้มีการดำเนินงานที่เกาะแสมสาร คล้ายคลึงกับเกาะปอร์โครอลส์ ของประเทศฝรั่งเศส  ซึ่งจัดเป็นสถานที่ศึกษาด้านพืชพรรณ การป่าไม้ และมีคนเข้าชมท่องเที่ยวพักผ่อนเป็นประจำ  เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนาจึงได้ติดต่อเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านการป่าไม้ของเกาะปอร์โคลอลส์เข้ามารเยี่ยมเกาะแสมสาร ให้ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินงาน และแล้วในเวลาบ่ายวันที่ 22 เมษายน พ.ศ.2541 เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนาก็ได้นำผู้เชี่ยวชาญเข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยมีประธานคณะกรรมการบริหาร อพ.สธ. ร่วมเข้าเฝ้าฯ ในวาระนั้นด้วย
     ทรงสนทนากับผู้เชี่ยวชาญเป็นภาษาฝรั่งเศส สลับกับรับสั่งเป็นภาษาไทยกับผู้เข้าเฝ้าฯ หลังจากทรงสนทนาได้สักพักหนึ่งก็รับสั่ง "ทำทั้ง 9 เกาะ เกาะแสมสารและรอบๆ"  และถัดมาอีกครู่เดียว "ทำตั้งแต่ยอดเขาถึงใต้ทะเล" และก่อนการเข้าเฝ้าฯ จะสิ้นสุดเพียงเล็กน้อยก็ทรงมีพระราชกระแสกับประธานคณะกรรมการบริหาร อพ.สธ. "เริ่มงานได้"
   
 รับสั่งแม้นสั้นแต่จะนำประโยชน์ที่กว้างขวางยิ่งใหญ่มาสู่มหาชนชาวไทยแน่แท้ หากนำไปปฏิบัติต่อเนื่อง

สภาพนิเวศที่หลากหลาย
    
เกาะแสมสารอยู่ห่างจากฝั่งเพียง 1.8 กิโลเมตร ร่องน้ำที่ลึกและกว้างอยู่ระหว่างฝั่งกับเกาะ ร่องน้ำอื่นๆ ที่อยู่ทางทิศตะวันออก ตะวันตก และทิศใต้ ล้วนมีความลึก กว้าง แตกต่างกัน ความเร็วของกระแสน้ำในร่องน้ำต่างกัน ส่งผลให้สภาพนิเวศโดยรอบเกาะทุกเกาะทั้งที่เกาะแสมสารและเกาะรอบๆ แตกต่างกัน การมีพื้นที่ศึกษาเป็นกลุ่มเกาะ หรือทั้งหมู่เกาะ แทนที่จะศึกษาเฉพาะเกาะใดเกาะหนึ่งเพียงเกาะเดียว จึงจะนำมาซึ่งองค์ความรู้ที่กว้างขวางขึ้น และโดยเฉพาะสภาพแวดล้อมที่จะช่วยให้ชีวภาพชนิดใดชนิดหนึ่ง กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เกิดมีขึ้น ณ สถานที่ พื้นที่หนึ่งใด อันจะนำไปสู่การกำหนดวิธีการที่จะใช้ศึกษาเพื่ออนุรักษ์และเพื่อพัฒนาชีวภาพนั้นๆ ต่อไป

ชีวภาพที่หลายหลาก
    
ตั้งแต่ยอดเขาถึงใต้ทะเล ทรัพยากรกายภาพที่เป็นฐานของชีวิต คือ หิน แร่ ดิน รวมทั้งความลาดเอียง สูง ต่ำ ของพื้นที่ ทำให้เกิดสภาพภูมิอากาศในแต่ละภูมิประเทศแตกต่างกัน  บนสันเขาที่ค่อนข้างแห้ง รับแดดตลอดวัน อีกทั้งผิวหน้าดินประกอบด้วยหินกรวดและทรายเป็นส่วนใหญ่ กับไหล่เขาที่ลาดเอียงไปทางตะวันตกรับแดดแรงในช่วงบ่าย มีชนิดของพืช สัตว์ จุลินทรีย์ที่แตกต่างกับหุบเขาที่อับลมและหุบเขาที่รับลมเฉพาะบางฤดูกาลของปี ซึ่งมีพืช สัตว์ จุลินทรีย์ที่ชอบความชุ่มชื้นสูง และชอบผิวดินที่มากด้วยอินทรีย์วัตถุอยู่อาศัย ส่วนในน้ำ นับแต่ชายหาดเรื่อยลงถึงผิวหินกรวดทราย และดินโคลน ใต้ร่องน้ำลึก ล้วนมีความแตกต่าง ส่งผลให้ชีวภาพใต้ผิวน้ำในแต่ละพื้นที่ต่างกันอย่างมาก ทั้งประเภทและชนิด รวมเป็นความหลายหลากของชีวภาพ
    
ชีวภาพเหล่านี้ล้วนมีความสัมพันธ์ เกี่ยวกัน กันทั้งโดยตรงในบางชนิด และโดยอ้อมในบางชนิด รวมทั้งสัมพันธ์เกี่ยวพันกันโดยตรงกับทรัพยากรกายภาพพื้นฐานด้วยอย่างหลีกพ้นมิได้

นักวิจัยที่หลายหลาก
    
ก่อน พ.ศ. 2500 การศึกษาชีวภาพหรือทรัพยากรชนิดใดชนิดหนึ่งในระดับอุดมศึกษา นิสิต นักศึกษาจะมุ่งสู่ความรู้ความเข้าใจในชีวิต ในธรรมชาติของทรัพยากรนั้นโดยรวม เพื่อที่จะนำทรัพยากรนั้นไปใช้ประโยชน์ได้  ในระยะต่อมา การศึกษาได้พัฒนาจากการรู้โดยรวมมาเป็นการศึกษาแยกส่วน เป็นการรู้ที่ละเอียดขึ้นในแต่ละส่วน แต่ละอวัยวะ แต่ละองค์ประกอบ ของแต่ละชนิดของชีวภาพ และแต่ละชนิดของทรัพยากร เมื่อเป็นเช่นนี้ การที่จะเข้าใจให้ละเอียดถึงชีวิตของแต่ละชีวภาพ ศักยภาพของแต่ละทรัพยากรอย่างสมบูรณ์ จึงต้องอาศัยการศึกษาร่วมกันของนักวิจัย นิสิต นักศึกษา นักเรียน ครู อาจารย์ แต่ละสาขา ที่ต้องมีการจัดการที่เหมาะสมเข้ามาประกอบ

แหล่งศึกษาธรรมชาติในอนาคต
    
วิทยาการที่เกิดมีขึ้นจากงานของนักวิจัยหลายสาขา เมื่อนำมาเรียบเรียง จะทำให้ได้ฐานความรู้เกี่ยวกับหมู่เกาะแสมสารที่มีความสมบูรณ์ขึ้นตามลำดับ รวมทั้งการอนุรักษ์ที่ทำอย่างต่อเนื่อง จะช่วยให้ประเทศไทยมีแหล่งศึกษาธรรมชาติที่มีทั้งข้อมูลพื้นฐานที่สมบูรณ์ และข้อมูลเฉพาะของแต่ละชนิดของทรัพยากรก็จะมากขึ้น สมบูรณ์ขึ้นตามกาล นิสิต นักศึกษา ที่เข้ามาศึกษาเพื่อเตรียมเป็นนักวิจัย และเยาวชนที่เข้ามาสัมผัส ศึกษา เพื่อเตรียมเป็นนักธรรมชาติวิทยา จะมีส่วนที่จะเสริมฐานความรู้เกี่ยวกับเกาะและทะเลให้กว้างขึ้น ความรู้ทั้งหลายเหล่านั้น เมื่อนำออกจัดแสดงร่วมกับตัวอย่างทรัพยากรที่เก็บรวบรวมไว้ ก็จะทำให้พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาเกาะและทะเลไทยที่กำลังสร้างอยู่ขณะนี้เป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีคุณค่าแหล่งหนึ่ง

   

ห้าปีที่ผ่านมา
    
หลังจากที่ทรงมีพระราชกระแสให้เริ่มงาน ทาง อพ.สธ. ต้องใช้เวลาเตรียมการนานถึง 38 วัน เพื่อชี้แจงให้อาจารย์ นักวิจัย จากสถาบันและหน่วยราชการต่างๆ ได้ทราบถึงงานที่จะต้องทำในอันดับแรก คือ การสำรวจ วิเคราะห์ จำแนก เพื่อทราบชนิดของทรัพยากรที่มีอยู่ตั้งแต่ยอดเขาถึงใต้ทะเล และรับสมัครผู้สนใจเข้าร่วมสนองพระราชดำริ ร่วมเป็นสมาชิกของคณะปฏิบัติงานวิทยาการ อพ.สธ. ออกสำรวจเกาะแสมสารและเกาะข้างเคียง โดยมีหน่วยสงครามพิเศษทางเรือ กองเรือยุทธการ กองทัพเรือและหน่วยอื่นๆ ของกองทัพเรือ คือ กรมอุทกศาสตร์ กรมวิทยาศาสตร์ทหารเรือ  เข้าร่วมปฏิบัติการด้วย การสำรวจเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ.2541 และได้ดำเนินการต่อเนื่องกันมาในช่วงวันเสาร์และวันอาทิตย์ ทุก 2 สัปดาห์ โดยแบ่งนักวิจัยออกเป็นคณะย่อยๆ สำรวจทรัพยากรกลุ่มที่ตนมีความเชี่ยวชาญ ในระยะหลังการสำรวจได้ทำปีละ 6 ครั้ง แต่ละครั้งมีคณะย่อยๆ มากถึง 28 คณะ คณะหนึ่งมี 4-6 คน ผลของการสำรวจได้นำออกเสนอ  โดยจัดในลักษณะการประชุมวิชาการและแสดงนิทรรศการ เป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2544 ในหัวข้อเรื่อง "ทรัพยากรไทย
: อนุรักษ์และพัฒนาด้วยจิตสำนึกแห่งนักวิจัยไทย"
    
นอกจากการสำรวจแล้ว งานศึกษาเพื่อทราบธรรมชาติของชีวภาพแต่ละชนิดได้ทำควบคู่กันไป

เกาะแสมสารในอนาคต
     คณะอาจารย์ นักวิจัย ที่ร่วมปฏิบัติงานสำรวจ ศึกษา หลายท่านที่ร่วมงานกันมาตั้งแต่ต้น กับบางท่านที่เพิ่งเข้าร่วมสนองพระราชดำริได้เพียงไม่ถึงปี  ได้ประชุมสนทนาอนาคตของงานที่หมู่เกาะแสมสาร ได้เห็นตรงกันว่า หากความร่วมใจ ร่วมปฏิบัติระหว่างคณะอาจารย์ นักวิจัย และบุคคลากรของกองทัพเรือ ยังคงเป็นเช่นปัจจุบัน ภายในปี พ.ศ.2550 งานสำรวจขั้นพื้นฐานควรเสร็จไม่น้อยกว่า 95 เปอร์เซนต์ พื้นที่ดำเนินงานศึกษา วิจัย ในหมู่เกาะแสมสารน่าจะมีความสมบูรณ์ มีเยาวชน นิสิต นักศึกษาเข้ามาศึกษา วิจัยทรัพยากรธรรมชาติที่เกาะแสมสารเป็นประจำ  ผลการศึกษาเมื่อนำเสนอที่พิพิธภัณฑ์แล้ว ควรนำออกหมุนเวียนสับเปลี่ยนเสนอในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศ และภายในปี พ.ศ.2565 หมู่เกาะแสมสารจะเป็นศูนย์รวมของชีวภาพของเกาะและทะเลไทยที่ดี เป็นสถานศึกษาธรรมชาติของเกาะและทะเลไทยที่สมบูรณ์ เป็นแหล่งฝึกเรียนรู้การดำรงชีพที่เหมาะสมของกองทัพเรือ ประชาชนได้รับประโยชน์โดยตรงจากผลการศึกษา และการอนุรักษ์ที่ทำอยู่ในหมู่เกาะแสมสาร
 

หน้าหลัก Home

ตามรอยเท้าพ่อ