หน้า  1   2  

 
     
 

        นักวิทยาศาสตร์ที่ศูนย์การเตือนภัยจะเฝ้าติดตามข้อมูลระดับน้ำทะเลเพื่อดูว่ามีการก่อตัวของคลื่นสึนามิแล้วหรือยัง  หากตรวจพบว่าเกิดการก่อตัวของคลื่นสึนามิที่มีอานุภาพในการทำลายล้างในระยะไกลสูงแล้ว ก็จะขยายการเตือนภัยไปยังประเทศต่างๆ ในบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกทั้งหมด  ศูนย์ PTWC รับข้อมูลระดับน้ำทะเลจากสถานีวัดจำนวนมากกว่า 100 สถานี โดยความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนข้อมูลร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เช่น หน่วยงานบริการด้านมหาสมุทรแห่งชาติของประเทศสหรัฐอเมริกา (The U.S. National Ocean Service) WC/ATWC ศูนย์วัดระดับน้ำทะเลของมหาวิทยาลัยฮาวาย (The University of Hawaii Sea Level Center) รวมทั้งประเทศต่างๆ คือ ชิลี ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น รัสเซีย และแหล่งข้อมูลนานาชาติอื่นๆ  การแจ้งข้อมูลประกาศเตือนภัยและประกาศให้เฝ้าระวัง รวมทั้งการประกาศข่าวสารอื่นๆ จะส่งกระจายไปยังเจ้าหน้าที่แผนกฉุกเฉินที่เกี่ยวข้องและประชาชนทั่วไปด้วยวิธีสื่อสารต่างๆ
          นอกจากนี้ แต่ละประเทศอาจมีการจัดตั้งศูนย์เตือนภัยระดับชาติเพื่อทำหน้าที่แจ้งข้อมูลเตือนภัยจากคลื่นสึนามิทั้งในระดับภูมิภาคหรือในระดับท้องถิ่น  สำนักงานอุตุนิยมวิทยาของประเทศญี่ปุ่น (The Japan Meteorological Agency) จะให้ข้อมูลการเตือนภัยให้แก่ประเทศญี่ปุ่นและรวมไปถึงประเทศเกาหลีใต้และรัสเซีย ในกรณีที่เกิดคลื่นสึนามิในบริเวณทะเลญี่ปุ่น (Sea of Japan) และทะเลตะวันออก (East Sea) หน่วยงานศูนย์ป้องกันสึนามิโพลินีเซีย (The Centre Polynesien de Prevention des Tsunamis) จะแจ้งข้อมูลการเตือนภัยหมู่เกาะโพลิเนเซียของฝรั่งเศส ในประเทศชิลีมีหน่วยงาน Sistema Nacional de Alarma de Maremotos และในประเทศรัสเซียมีหน่วยงาน Russian Hydrometeorological Service ซึ่งปฏิบัติหน้าที่เป็นศูนย์เตือนภัยจากสึนามิในระดับชาติ
          ในประเทศสหรัฐอเมริกา มีศูนย์เตือนภัยคลื่นสึนามิ 2 แห่ง ได้แก่ ศูนย์ WC/ATWC ทำหน้าที่เตือนภัยจากสึนามิให้แก่พื้นที่ชายฝั่งทางตะวันตกของสหรัฐฯ และประเทศแคนาดา และศูนย์ PTWC ทำหน้าที่เตือนภัยให้แก่บริเวณมลรัฐฮาวายและบริเวณอื่นๆ ที่อยู่ในความดูแลของสหรัฐฯ ในมหาสมุทรแปซิฟิก นอกจากนี้ประเทศอื่นๆ เช่น ออสเตรเลีย โคลัมเบีย นิคารากัว เปรู และเกาหลีใต้  ต่างก็กำลังพัฒนาระบบการเตือนภัยนี้เช่นกัน

 
 

         
 
   
  ข้อมูลเกี่ยวกับคณะกรรมการระหว่างประเทศด้านสมุทรศาสตร์
          
คณะกรรมการระหว่างประเทศด้านสมุทรศาสตร์ (The Intergovernmental OCeanographic Commission: IOC) เป็นหน่วยงานอิสระภายใต้องค์การยูเนสโก (The United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization: UNESCO) จัดตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมการสำรวจด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเลและให้บริการต่างๆ ที่เกี่ยวกับมหาสมุทร เพื่อหวังผลทางการเรียนรู้เกี่ยวกับธรรมชาติและทรัพยากรต่างๆ ภายใต้มหาสมุทร โดยดำเนินกิจกรรมร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิก
           หน้าที่โดยทั่วไปของ IOC คือ พัฒนา แนะนำ และประสานโครงการระหว่างประเทศที่เกี่ยวกับการค้นคว้าสำรวจทางทะเลแบละกิจกรรมบริการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับมหาสมุทร / สนับสนุนและให้คำแนะนำในด้านการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านสมุทรศาสตร์ และเผยแพร่ผลงานสำรวจและศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเล / ส่งเสริมและประสานงานด้านการพัฒนาและถ่ายทอดความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางทะเล /  ให้คำแนะนำเพื่อการสร้างความเข้มแข็งด้านการศึกษาและฝึกอบรม เพื่อสนับสนุนการสำรวจทางทะเลและนำผลลัพธ์ไปประยุกต์ใช้เพื่อประโยชน์ของมนุษยชาติ
          ปัจจุบันมีประเทศสมาชิก 129 ประเทศ ทั้งนี้ สมัชชาของ IOC มีกำหนดให้ประชุมร่วมกัน 2 ปีต่อครั้ง ที่สำนักงานใหญ่ขององค์การยูเนสโก ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส
          IOC ประกอบด้วยสมัชชา คณะกรรมการบริหาร เลขาธิการ และหน่วยงานต่างๆ ที่ IOC อาจตั้งขึ้น กล่าวคือ IOC จะแต่งตั้งคณะกรรมการหรือหน่วยงานย่อย อื่นๆ จากกลุ่มประเทศสมาชิกที่สนใจมาดำเนินโครงการเฉพาะกิจ ตัวอย่างโครงการเช่นนี้ คือ กลุ่มประสานงานระหว่างประเทศด้านการเตือนภัยสึนามิในแปซิฟิก (The International Coordination Group for the Tsunami Warning System in the Pacific : ICG/ITSU)

 
 

     หน้า  1   2