หน้า  1   2  

 
           
 

            อุปกรณ์ตรวจวัดแรงกดดันที่ก้นมหาสมุทร (ocean-bottom presure sensors) สามารถตรวจวัดคลื่นสึนามิในมหามหาสมุทรเปิดและส่งข้อมูลรายงานที่สำคัญเกี่ยวกับการแพร่กระจายของคลื่นสึนามิในมหาสมุทรน้ำลึก นอกจากนี้ ดาวเทียมสื่อสารทำให้เราสามารถนำข้อมูลเหล่านี้มาตรวจจับและยืนยันการก่อตัวของคลื่นสึนามิในมหาสมุทรลึกได้ทันทีทันใด ห้องปฏิบัติการวิจัยสิ่งแวดล้อมทางทะเลในแถบมหาสมุทรแปซิฟิก (Pacific Marine Environmental Laboratory : PMEL) ของ NOAA ได้ริเริ่มพัฒนาทุ่นลอยเพื่อตรวจจับคลื่นสึนามิ (Tsunami detection buoy) ขึ้น และภายในปี 2003 ทุ่นลอยเพื่อตรวจจับคลื่นสึนามิจำนวน 7 ทุ่น ในบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกตอนเหนือและตะวันออก จะเริ่มทำงานบริการข้อมูลให้แก่ศูนย์เตือนภัยเกี่ยวกับคลื่นสึนามิต่างๆ ได้ ด้วยเครื่องมือและรูปแบบการจำลองทางคณิตศาสตร์ที่ดีขึ้น จะช่วยทำให้นักวิทยาศาสตร์เข้าใจถึงกลไกการก่อกำเนิดของคลื่นสึนามิได้ดียิ่งขึ้น
           เมื่อวันที่ 15 มกามคม 2548 รัฐบาลสหรัฐอเมริกา ได้ประกาศ แผนการจัดทำระบบเตือนภัยสึนามิ ของสหรัฐอเมริกาขึ้น ซึ่งระบบนี้ครอบคลุมทั้งบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกและแอตแลนติก โดยการติดตั้งทุ่นลอยไฮเทค 38 ทุ่นทำงานคู่กับเครื่องบันทึกความดันที่ติดตั้งอยู่ใต้มหาสมุทร ทุ่นลอยไฮเทคเหล่านี้ ประกอบด้วยจำนวน 25 ทุ่นในมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งเพิ่มจาก 6 ทุ่นที่ทำงานอยู่เดิม และสำรอง 2 ทุ่นไว้ที่นอกฝั่งอลาสกา  นอกจากนี้ในมหาสมุทรแอตแลนติกจะติดตั้งทุ่นลอย 5 ทุ่น และในทะเลแคริบเบียน 2 ทุ่น เพื่อครอบคลุมการดูแลอ่าวแม็กซิโกเป็นครั้งแรก  ระบบจะเริ่มใช้งานได้กลางปี พ.ศ.2550
         
นักวิทยาศาสตร์ด้านแผ่นดินไหว (Seismologists) ที่ศึกษาการเกิดแผ่นดินไหวด้วยเครื่องวัดความไหวสะเทือนแบบช่วงคลื่นกว้าง 20-0.003 เฮิรตซ์ (board band seismometer) กำลังหาวิธีการใหม่ในการวิเคราะห์ความเคลื่อนไหวของแผ่นดินและปริมาณพลังงานที่ปล่อยออกมาจากแผ่นดินไหว เนื่องจากการวัดระดับความรุนแรงด้วยมาตราริกเตอร์ (Richter) ใช้กันมานาน เป็นการวัดจากคลื่นบริเวณพื้นผิว (surface wave) ซึ่งไม่แม่นยำเมื่อระดับความรุนแรงเกิน 7.5 วิธีการสมัยใหม่สำหรับการคำนวณพลังงานที่ปลดปล่อยมาจากแผ่นดินไหวและศักยภาพของการกำเนินคลื่นสึนามิ จะใช้ค่า seismic moment และระยะเวลาของแหล่งกำเนิด (source duration) ระบบสมัยใหม่สามารถระบุความลึกของแผ่นดินไหว ลักษณะรอยแตกของเปลือกโลก ขอบเขตของการเคลื่อนที่ของแผ่นเปลือกโลกได้ทันตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง (real time) ซึ่งช่วยให้ศูนย์เตือนภัยต่างๆ สามารถยืนยันความเป็นไปได้ของการเกิดคลื่นสึนามิได้ดีขึ้นมาก
          การก่อตัวของคลื่นสึนามิ ตั้งต้นจากการบิดเบี้ยวของพื้นมหาสมุทรในสามมิติ เนื่องจากการเคลื่อนที่ของรอยแตกของเปลือกโลก เมื่อเราสามารถจำแนกกลไกของแผ่นดินไหวด้วยลักษณะของการเคลื่อนตัวของรอยแตกของเปลือกโลกได้ชัดเจนขึ้นแล้ว จะทำให้สามารถแสดงรูปแบบจำลองทางคณิตศาสตร์เพื่อให้เห็นการแพร่กระจายของคลื่น ระดับน้ำทะเลหนุน และระยะทางเข้าฝั่งที่ถูกคลื่นสึนามิซัดท่วมถึงได้ใกล้เคียงกับสถานการณ์จริงมากขึ้นด้วย ในปัจจุบันรูปแบบจำลองลักษณะของการแพร่กระจายของคลื่นสึนามิโดยทั่วไปจะใช้วิธีการที่เรียกว่า "implicit-in-time finite difference method"
          รูปแบบจำลองเพื่อคำนวณระยะทางเข้าสู่ฝั่งที่คลื่นสึนามิซัดท่วมถึง (inundation) ซึ่งบอกให้ทราบว่าพื้นที่ชายฝั่งทะเลที่จะถูกน้ำท่วมมากน้อยเพียงใด  ถือว่าเป็นส่วนสำคัญของการวางแผนและการเตรียมพร้อมที่จะรับมือกับคลื่นสึนามิ การใช้รูปแบบการคำนวณระยะทางเข้าสู่ฝั่งสูงสุดที่คลื่นสึนามิซัดท่วมถึง  จะช่วยกำหนดว่าจะต้องอพยพผู้คนออกนอกเขตใด และควรใช้เส้นทางใดเพื่อการย้ายผู้คนในชุมชนชายฝั่งไปสู่ที่ซึ่งปลอดภัยได้อย่างรวดเร็วเมื่อมีประกาศเตือนภัยคลื่นสึนามิให้อพยพ

รูปจำลองของการเกิดคลื่นสึนามิ ณ ประเทศชิลี เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม ปี  1995 แสดงให้เห็นผลระดับน้ำทะเลหนุนสูง และระยะทางเข้าสู่ฝั่งที่คลื่นสึนามิซัดท่วมถึง โดยเทียบกับระดับน้ำทะเลปกติ และเส้นแนวชายฝั่ง (เส้นสีขาวในภาพ) บริเวณอ่าวทาโอกุ (Tahauku) เมืองฮิวาโฮ (Hiva Hoa) บนหมู่เกาะมาเคซัส (Marquesas Islands) ของหมู่เกาะโพลินีเว๊ยของฝรั่งเศส (French Polynesia) เหตุการณ์นี้ทำให้เรือเล็กจำนวน 2 ลำ อับปางลงบริเวณอ่าวทาโอกุ

   

รูปจำลองของคลื่นสึนามิที่เกิดขึ้นในมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันออกเฉียงใต้ หลังจากการก่อตัวของคลื่นสึนามิเป็นเวลา 9 ชั่วโมง