ผู้หญิงในชีวิตของผม..แม่

กลับหน้าหลัก  

HOME ห้องสมุด

หน้า   1   2    3    4    5   6


๑. ยายกะตา
     
  แม่ผมชื่อเซาะเช็ง  กำเนิดในสกุลแซ่เตียว ซึ่งต่อมาเปลี่ยนเป็นนามสกุลไทยว่าประสาทเสรี  เกิดเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๗ ผมไม่รู้จักชื่อตาจของผม ท่านตายก่อนผมเกิด ยายผมชื่อเชย
         เชยเป็นคำไทยที่เพราะ  เหมาะสำหรับตั้งชื่อผู้หญิง  แต่เดี๋ยวนี้ความหมายแปรปรวนไปจนใช้ไม่ได้  ผมเข้าใจว่าสาเหตุมาจากนวนิยายเรื่องสั้นเรื่องหนึ่งเขียนเมื่อก่อนสงครามญี่ปุ่น ในนวนิยายนั้นลุงเชย แท้จริงเป็นตัวเอก แต่เป็นคนแบบโบราณ เสื้อผ้าเก่าแต่สะอาด เป็นคนรับใช้เขา และซื่อสัตย์สุจริต ไปรับส่งเด็กไปโรงเรียน แท้จริงเด็กคนนั้นเป็นลูกหลานลุงเชย แต่เพื่อนๆ ของเด็กนั้นล้อเลียนลุงเชยว่าคร่ำครึ นับแต่นั้นมา พวกเราทั้งที่เคยอ่านนวนิยายเรื่องนั้นและไม่เคยอ่าน ก็เลยทึกทักเอาว่าเชยแปลว่าคร่ำครึ น่าเสียดายนัก เมื่อเล็กๆ ผมยังชมตาทวดผมอยู่เสมอว่า ท่านตั้งชื่อลูกสาวสามคนของท่านเก่ง ชื่อเพราะทุกคน คือ ชื่น เชย และชม

          ตากับยายผมตั้งร้านขายผ้าอยู่ที่สำเพ็งใกล้ตรอกโรงโคม แม่เป็นลูกหัวปี มีน้องหญิง ๔ คน น้องชาย ๓ คน  ยายผมถูกอบรมแบบโบราณ คือไม่ให้เรียนหนังสือ ฉะนั้นท่านจึงอบรมลูกสาวหัวปีแบบเดียวกัน แต่แม่ผมเป็นคนใจเด็ดอุตส่าห์เรียนหนังสือด้วยตนเอง  จนอ่านและเขียนได้ดีพอใช้  หนังสือจีนแม่ไม่ได้เรียน  แต่อ่านป้ายตามร้านได้และพูดได้คล่อง  เมื่อโตเป็นสาวแม่ก็ช่วยยายกะตาทำบัญชีค้าขายได้ เพราะหัดดีดลูกคิดเอาเอง ไม่เคยเข้าโรงเรียน
          ผมเข้าใจว่าที่แม่สามารถเล่าเรียนด้วยตนเองได้นั้น นอกจากจะเป็นเพราะมีมานะเด็ดเดี่ยวแล้ว ยายผมยังมีส่วนประกอบทางอ้อมให้ด้วย  คือสมัยนั้นโรงพิมพ์ราษฎร์เจริญ ("ร้านหนังสือหน้าวัดเกาะเพราะหนักหนา") เริ่มเจริญขึ้น พิมพ์หนังสือไทยดีๆ ออกจำหน่ายเป็นจำนวนมาก ยายผมอ่านหนังสือไม่ออกก็จริง แต่ได้ลงทุนซื้อหนังสือโรงพิมพ์ราษฎร์เจริญมารวบรวมไว้เพื่อให้คนอื่นเช่าไปอ่าน  การมีห้องสมุดติดบ้านเช่นนี้คงจะยั่วยุให้ลูกสาวเกิดความสนใจและพยายามอ่านให้ออกรู้เรื่องจนได้  นอกจากนั้นแต่ไหนแต่ไรมาแล้วยายผมชอบให้เด็กๆ อ่านหนังสือให้ท่านฟัง  บางเรื่องท่านฟังซ้ำแล้วซ้ำอีกจนจำได้แม่น  เวลาเด็กอ่านติดท่านก็บอกให้ได้ถูกต้อง  ถึงสมัยผมโตเข้าโรงเรียนแล้ว ก็ได้ถูกจับตัวเข้าเวรอ่านหนังสือให้ยายฟัง หนังสือไทยของผม "แตก" เพราะมีครูคนนี้ที่ไม่รู้หนังสือสักตัวเดียวคอยบอกให้เมื่ออ่านติด  ห้องสมุดของยายตกทอดมาถึงรุ่นผมมากพอใช้  พอผมอ่านหนังสือออกก็มีโอกาสได้อ่านรามเกียรติ์ (สัก ๒ - ๓ จบ) อิเหนา พระอภัยมณี พระมหาชาติคำหลวง นิราศต่างๆ ซิยิ่นกุ้ย เต็ก-เช็ง  เป็นต้น โดยไม่ต้องไปขวนขวายหาอ่านนอกบ้าน

๒. ลุง เตี่ย กับแม่

          เมื่อแม่อายุประมาณ ๒๕ ปี ได้แต่งงานกับเตี่ยผมซึ่งเป็นจีนนอกเข้ามาประกอบอาชีพช่วยพี่ชาย ผมไม่ใคร่จะสนิทกับเตี่ย เพราะเตี่ยไปทำงานตั้งแต่เช้าจนค่ำ กว่าจะกลับบ้านก็สองทุ่มสามทุ่ม และเตี่ยตายเมื่อผมอายุ ๙ ขวบ ฉะนั้นนับได้ว่าแม่เลี้ยงผมและพี่น้องมาตลอด
          พี่ชายของเตี่ยตั้งแพปลาอยู่ที่ปากคลองวัดปทุมคงคา  อาชีพนี้สมัยปัจจุบันคงจะเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า merchant banking  คือออกเงินให้ชาวประมงกู้ไปลงทุนแล้วรับซื้อปลาภายหลัง การให้กู้ในลักษณะนี้และเป็นคนกลางจำหน่ายปลาด้วย มักจะมีผู้ตำหนิว่าทำหน้าที่คนกลางและใช้เงินกู้เป็นเครื่องบังคับขูดเลือดชาวประมง แต่ถ้ามีการแข่งขันกันโดยแพปลาหลายๆแพแย่งกันซื้อแย่งกันให้กู้ จะเรียกว่าขูดเลือดชาวประมงคงจะไม่ถูกต้อง อนึ่ง การลงทุนแบบนี้เสี่ยงต่ออันตรายธรรมชาติอยู่มาก เพราะถ้าอากาศไม่ดีปลาไม่เข้าโป๊ะ หรือเกิดมรสุมโป๊ะแตก หนี้ที่ให้กู้ไปนั้นก็สูญเปล่า พ่อค้าแพปลาที่ล้มละลายไปเพราะเหตุเหล่านี้ก็มีอยู่มาก

 

 

 

คัดลอกจากหนังสือ "ประสบการณ์ชีวิต และข้อคิดสำหรับคนหนุ่มสาว" โดย ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ (จัดพิมพ์โดยมูลนิธิโกมลคีมทอง)