หน้า  1    2   3    4    5

-1-

อ่านต่อ

 

 
   

           สิ่งมีชีวิตในทะเล แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ตามหลักของนิเวศวิทยา ได้แก่ แพลงก์ตอน (Plankton)  เนคตอน (nekton)  และเบนโธส (benthos)  แพลงก์ตอนเป็นสิ่งมีชีวิตที่เคลื่อนที่ไม่ได้ด้วยตัวเอง  แต่ล่องลอยไปในน้ำสุดแต่คลื่นและลมจะพาไป  เนคตอนเป็นสิ่งมีชีวิตที่สามารถว่ายน้ำได้ด้วยตัวเอง  ได้แก่  ปลาหมึก  โลมา วาฬ ฯลฯ กลุ่มสุดท้ายที่อาศัยอยู่บนพื้นท้องน้ำมีทั้งที่เกาะอยู่กับที่หรือคลืบคลานตามพื้น คือ พวกเบนโธส ซึ่งประกอบด้วยสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง เช่น ดาวทะเล  ปะการัง  กุ้ง  ปู ฯลฯ
             แพลงก์ตอน  เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีขนาดเล็กตั้งแต่มองไม่ได้ด้วยตาเปลาที่ต้องดูด้วยกล้องจุลทรรศน์  จนถึงมีขนาดใหญ่เห็นได้อย่างชัดเจน
           แพลงก์ตอนแบ่งออกเป็น แพลงก์ตอนพืช และ แพลงก์ตอนสัตว์  แพลงก์ตอนพืชมีความสำคัญต่อสรรพสิ่งในทะเลอย่างมาก เพราะเป็นอาหารของทุกชีวิตในน้ำ ลำดับต่อจากแพลงก์ตอนพืช เป็นผู้บริโภคอันดับแรก (
primary consumer) ที่กินแพลงก์ตอนพืชคือ แพลงก์ตอนสัตว์ ซึ่งจะเป็นอหารของสัตว์อื่นที่มีขนาดใหญ่ขึ้นไปตามลำดับจนถึงปลาหรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม  และเมื่อแพลงก์ตอนหรือสัตว์อื่นตายลงจะจมลงสู่พื้นทับถมเน่าเปื่อยไปตามกาลเวลา หรือถูกย่อยสลายโดยแบคทีเรีย รา จนกลายเป็นอาหารของสัตว์พื้นท้องน้ำอีกทอดหนึ่ง

แพลงก์ตอนสัตว์มีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดเกี่ยวเนื่องกับสิ่งมีชีวิตบนพื้นท้องน้ำหรือเบนโธส กลุ่มที่มีความสัมพันธ์อย่างมากคือ กลุ่มแพงก์ตอนสัตว์ที่เรียกว่า  เมโรแพลงก์ตอน (meroplankton)  ซึ่งดำรงชีวิตแบบแพลงก์ตอนในช่วงเวลาหนึ่งของวงจรชีวิต  กล่าวคือ  ระยะที่เป็นไข่และตัวอ่อนของสัตว์ทะเลทุกชนิด โดยเฉพาะชนิดที่อยู่บริเวณชายฝั่งหรือแนวปะการัง และจะล่องลอยอยู่ในน้ำจนถึงระยะที่เกาะกับพื้น จะจมลงสู่พื้นท้องน้ำ ฉะนั้นท้องทะเลแห่งใดที่มีความอุดมสมบูรณ์ของปะการังและป่าชายเลน จะมีความหลากหลายของแพลงก์ตอนอย่างมาก เวลาที่พบแพลงก์ตอนสัตว์แต่ละกลุ่มนั้นแตกต่างกันไปในรอบปี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับช่วงเวลาที่สืบพันธุ์ของสัตว์แต่ละชนิด









 








 

เมโรแพลงก์ตอน (Meroplankton)

 

 
               
เมโรแพลงก์ตอน (Meroplankton)
 

            ความมหัศจรรย์ของรูปร่างแพลงก์ตอนสัตว์ทุกชนิดอยู่ที่การดัดแปลงรูปร่างเพื่อให้เหมาะกับการล่องลอยอยู่ในน้ำ  โดยการมีหนามยาว  มีขนยาว ตัวแบน มีปีกบาง หรือสะสมอาหารในรูปของหยดน้ำมัน ฯลฯ ที่ทำให้ลำตัวสามารถลอยอยู่ในน้ำที่มีคลื่นและลมได้ดี การดำรงชีวิตของแพลงก์ตอนก็น่าสนใจอย่างยิ่ง คือ มีพฤติกรรมในการอพยพย้ายที่อยู่ในแนวดิ่ง (vertical migration)  ตามฤดูกาลเพื่อการสืบพันธุ์ การอพยพย้ายถิ่นในรอบวันเพื่อให้เหมาะสมกับการดำรงชีวิต เช่น เคลื่อนย้ายไปอยู่ระดับลึกที่เหมาะสม  เพื่อมีอาหารที่พอเพียงหรือมีระดับความเข้มแสงที่เหมาะสมแก่การดำรงชีวิต นอกจากการปรับรูปร่างให้เหมาะสมแล้วแพลงก์ตอนสัตว์ยังปรับสีของลำตัวให้เหมาะสมกับสิ่งแวดล้อม ตัวอย่างเช่น โคพีพอดชนิดที่อาศัยอยู่ใกล้ผิวน้ำจะมีลำตัวแบนคล้ายใบไม้และมีลำตัวใส แพลงก์ตอนสัตว์ที่กินสัตว์อื่นเป็นอาหาร จะมีเข็มพิษและเครื่องล่อเหยื่อให้เข้าใกล้ เป็นต้น นอกจากนี้แพลงก์ตอนสัตว์ยังมีการดำรงชีวิตแบบพึ่งพาอาศัยกับสิ่งมีชีวิตอื่น (symbiosis) ทั้งพืชและสัตว์อีกด้วย

 
 

 
 
หน้า  1    2   3    4    5  

อ่านต่อ

 

 ข้อมูลจากหนังสือ: จากยอดเขาถึงใต้ทะเล ฯ เรียบเรียงโดย ศาสตราจารย์ ลัดดา วงศ์รัตน์ แห่งภาควิชาชีววิทยาประมง คณะประมง  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์