หน้า  1    2   3    4    5

-5-

 
 

             
 

           โปรโตซัวอีก 2 กลุ่มที่ควรจะกล่าวถึงด้านความมหัศจรรย์คือ  Foraminiferida  และ  Radiolarida  เนื่องจากเป็นสัตว์เซลล์เดียวที่ให้ประโยชน์อย่างมหาศาลแก่มวลมนุษยชาติ กล่าวคือ  โปรโตซัวดังกล่าวได้สะสมอาหารในเซลล์ในรูปของหยดน้ำมัน  เมื่อตายลงและทับถมอยู่ใต้ท้องทะเลนานนับล้านปี  จึงเป็นแหล่งน้ำมันดิบที่มีคุณค่า  ฉะนั้นนักสำรวจแหล่งน้ำมันของโลกจึงต้องรู้จักโปรโตซัวทั้ง 2 กลุ่มดี  คือ ต้องสามารถจำแนกชนิดได้เพราะโปรโตซัวแต่ละชนิดจะสะสมปริมาณน้ำมันมากน้อยต่างกัน

 

โปรโตซัวในกลุ่ม  Foraminiferida


             Foraminiferida   หรือเรียกง่ายๆ ว่า ฟอแรม  เป็นโปรโตซัวที่มีเปลือกหุ้มเซลล์ บนเปลือกมีรูขนาดเล็กจำนวนมากให้เท้าเทียมยื่นออกมาจากเปลือก เพื่อช่วยให้เซลล์ลอยอยู่ในน้ำได้  เท้าเทียมนี้เป็นเท้าเทียมชั่วคราว  ฉะนั้นจึงสร้างขึ้นชั่วคราวและหดกลับเข้าในเปลือกตามเดิม  การจำแนกชนิดใช้รูปร่างลักษณะรายละเอียดของเปลือกเป็นหลัก  ฟอแรมมีทั้งทั้งชนิดที่ลอยอยู่ในน้ำรวมอยู่ในแพลงก์ตอนสัตว์  แต่ส่วนใหญ่เป็นเบนโธสคืออาศัยตามพื้นท้องทะเล

   
 

โปรโตซัวในกลุ่ม  Radiolarida


           Radiolarida  เป็นแพลงก์ตอนสัตว์ มีรูปร่างแปลก คือ ไม่มีเปลือกห่อหุ้มเซลล์เช่นเดียวกับพวกฟอแรม เซลล์มีลักษณะหยุ่นๆ คล้ายฟองน้ำ ที่ลอยอยู่ในน้ำได้โดยอาศัยเท้าเทียมซึ่งเป็นก้านยาว รูปแบบการเรียงตัวของก้านหรือนามสั้นๆ เป็นลักษณะในการจำแนกชนิด  ก้านนี้อาจเรียงพาดกันเป็นรัศมีโดยมีเซลล์อยู่ที่ศูนย์กลาง หรือที่ก้านขนาดใหญ่พาดผ่านศูนย์กลางของเซลล์ และมีหนามสั้นๆ พาดผ่านเซลล์ก็ได้  Radiolarida ส่วนใหญ่อาศัยอยู่บนพื้นท้องทะเลหรือเป็นพวกเบนโธส พวกนี้มีเปลือกหุ้มเซลล์ซึ่งต่างจากชนิดที่เป็นแพลงก์ตอน แต่รูปร่างของเปลือกแตกต่างจากพวกฟอแรม คือเปลือกของฟอแรมเป็นช่องเรียงกันเป็นรูปแบบที่แน่นอนในแต่ละชนิด

แพลงก์ตอนสัตว์ที่เริ่มมีกระดูกสันหลัง
   
สกุล  Oikopleura สกุล  Fritillaria


          พวกทูนิเขตเป็นแพลงก์ตอนสัตว์ถาวรที่มีวิธีการดำรงชีวิตที่น่าทึ่งมาก ตั้งแต่การที่มันสามารถสร้างบ้านให้กับตัวเองเพื่ออาศัยอยู่และกินอาหารแล้ว ทูนิเขตยังมีประสิทธิภาพในการถ่ายทอดพลังงานสูงที่สุดในบรรดาแพลงก์ตอนสัตว์ทั้งหมด  กล่าวคือ ทูนิเขตกินอาหารที่มีขนาดเล็กมาก เช่น นาโนแพลงก์ตอน (ขนาด 2-20 ไมโครเมตร)  เป็นอาหาร ฉะนั้น การสูญเสียพลังงานในแต่ละห่วงโซ่อาหารจึงไม่มีทำให้นักชีววิทยาจำนวนมากสนใจศึกษาวงจรชีวิตของแพลงก์ตอนสัตว์กลุ่มนี้ ทูนิเขตมีลำตัวขนาดเล็ก รูปร่างคล้ายถั่วงอก บริเวณที่เป็น เม็ดถั่วคือส่วนของลำตัวและส่วนหางซึ่งใสใช้โบกพัดเวลาเคลื่อนที่ บ้านของทูนิเขตมีลักษณะใส รูปทรงกลม หรือรูปรี คล้ายลูกรักบี้ ทูนิเขตบางชนิดอาศัยอยู่ในบ้าน เช่น
Oikepleura  แต่บางชนิดอาศัยอยู่นอกบ้าน เช่น  Fritilaria   ทูนิเขตจะสร้างบ้านขึ้นใหม่ทดแทนบ้านเก่า  เมื่อตะแกรงที่ใช้กรองอาหารในบ้านเกิดการอุดตัน เวลาในการสร้างบ้านไม่นานมาก บางชนิดอาจสร้างบ้านได้ใหม่ทุก 3 ชั่วโมง

หน้า  1    2   3    4    5    
 

ข้อมูลจากหนังสือ: จากยอดเขาถึงใต้ทะเล ฯ เรียบเรียงโดย ศาสตราจารย์ ลัดดา วงศ์รัตน์ แห่งภาควิชาชีววิทยาประมง คณะประมง  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์