หน้า  1    2   3    4    5

-2-

อ่านต่อ

 

 
   

           ในท้องทะเลที่อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะในแนวปะการัง เราจะพบตัวอ่อนของสัตว์พื้นท้องน้ำในกลุ่ม echinoderm ซึ่งจะมีตัวอ่อนของ echinoderm ล่องลอยอยู่ในน้ำ ยามใดที่การลากแพลงก์ตอนตรงกับช่วงเวลาที่สัตว์เหล่านี้สืบพันธุ์  จะพบตัวอ่อนจำนวนมากอยู่ในตัวอย่างแพลงก์ตอนบริเวณใกล้ๆ กับแนวปะการังซึ่งอุดมสมบูรณ์ไปด้วยสัตว์นานาชนิด บางครั้งจะพบ ตัวอ่อน actinotrocha (ตัวอ่อนของ Phylum Phoronida)  ซึ่งมีรูปทรงที่แปลกประหลาด อย่างไรก็ตามลักษณะของตัวอ่อนก็ยังมีลักษณะคล้ายตัวเต็มวัยอยู่บ้าง ซึ่งตรงกันข้าม ตัวอ่อน cyphonautes ที่มีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมใส ปลายสามเหลี่ยมแบ่งเป็น 2 ช่อง และที่ขอบมีขนจำนวนมากช่วยให้ตัวอ่อนเคลื่อนที่ไปมาได้ รูปร่างของ ตัวอ่อน cyphonautes ไม่ได้บ่งบอกถึงลักษณะของตัวเต็มวัยใน Phylum Ectoprocta ซึ่งบางชนิดมีลักษณะเหมือนกับต้นไม้ที่แตกกิ่งก้าน หรือบางชนิดมีลักษณะคล้ายกับดอกไม้ทะเลที่มีก้านยาวและแข็งเพราะมีแคลเซียมมาฝังอยู่  สัตว์อื่นในแนวปะการังยังรวมทั้ง กุ้ง ปู กั้ง และหอย (หอยฝาเดียวและหอย 2 ฝา) ฯลฯ ซึ่งเราสามารถทราบวามอุดมสมบูรณ์ของสัตว์พวกนี้ได้โดยที่ไม่ต้องดำน้ำ โดยดูจากชนิดและปริมาณตัวอ่อนของเบนโธสในกลุ่มดังกล่าวในตัวอย่างแพลงก์ตอน

          แพลงก์ตอนสัตว์ชั่วคราว หรือ meroplankton ที่กล่าวข้างต้นนี้เป็นตัวอย่างของแพลงก์ตอนสัตว์ที่เป็นตัวอ่อนของสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง แพลงก์ตอนสัตว์ที่เป็นตัวอ่อนของสัตว์มีกระดูกสันหลังคือ ไข่ปลา และตัวอ่อนปลา ซึ่งมีมากมายหลายชนิดจนได้ชื่อเฉพาะว่า ichythyoplankton  วิชาที่ว่าด้วยเรื่องปลาโดยเฉพาะมีชื่อว่า มีนวิทยา หรือ ichthyology  ตัวอ่อนปลาเป็นเมโรแพลงก์ตอนที่มีความหลากลายชนิดมาก เราจะพบตัวอ่อนปลามากเป็นพิเศษในบริเวณชายฝั่งของป่าชายเลน ซึ่งเป็นบริเวณที่มีอาหารอุดมสมบูรณ์ที่สัตว์น้ำชอบเข้ามาสืบพันธุ์  วางไข่

 
ตัวอ่อน Actinotrocha ตัวอ่อน Cyphonautes

    แพลงก์ตอนสัตว์ถาวร หรือ  holoplankton  มีความสำคัญทั้งด้านความหลากหลายและความชุกชุมไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าแพลงก์ตอนชั่วคราวแต่อย่างใด  บางกลุ่มจัดได้ว่ามีความสำคัญที่สุดก็ว่าได้  นั่นก็คือ กลุ่มโคพีพอด (copepods) โคพีพอดจึงได้สมญาว่าเป็น "แมลงแห่งท้องทะเล"  ซึ่งมีความหมายชัดเจนถึงความสำคัญของแพลงก์ตอนสัตว์กลุ่มนี้ เพราะแมลงบกเป็นสัตว์ที่มีจำนวนชนิดและความชุกชุมมากที่สุดในบรรดาสัตว์บกทั่วโลก

 
 
 
แพลงก์ตอนสัตว์ในแนวปะการัง ได้แก่ตัวอ่อนของปู กุ้ง กั้ง กุ้ง หอยฝาเดียว และหอยสองฝา

 
 
 

            โคพีพอดดำรงชีวิตเป็นแพลงก์ตอนทั้งชีวิต  คือล่องลอยอยู่ในน้ำ ตั้งแต่ระยะเวลาที่เป็นไข่ เป็นตัวอ่อนจนถึงตัวเต็มวัย โคพีพอดส่วนใหญ่มี ขนาดตั้งแต่ 0.5 จนถึง 3.5 มิลลิเมตร รูปร่างและสีสันของโคพีพอดแตกต่างกันมากมายและสามารถอาศัยอยู่ได้ตั้งแต่ระดับผิวน้ำจนถึงระดับลึกมากกว่า 1,000 เมตร โคพีพอดที่อยู่ผิวน้ำซึ่งมีแสงจ้า ลำตัวจะใสเพื่อพรางลำตัวไม่ให้ศัตรูเห็น ชนิดที่อยู่ในทะเลลึกไม่มากนักสีของลำตัวจะมีหลากหลายตั้งแต่สีน้ำตาลอ่อน น้ำตาลเข้มจนเกือบดำ จนถึงสีฟ้า หรือสีเขียว โคพีพอดกินอาหารได้หลายประเภท ตั้งแต่พืช สัตว์อื่น (ทั้งที่มีขนาดเล็กกว่าหรือขนาดใหญ่กว่า เช่น ลูกปลา)  สิ่งเน่าเปื่อยจนถึงเป็นปรสิต  ด้วยเหตุนี้โคพีพอดจึงเป็นสัตว์ที่มีความหลากหลายของชนิดสูงมาก  ในทางกลับกัน โคพีพอดก็เป็นอาหารอันโอชะของสัตว์กินเนื้อชนิดอื่น โดยเฉพาะเป็นอาหารโปรดของหนอนธนู หวีวุ้น cnidarians  ลูกปลา ฯลฯ 

 

     

 

ไข่และตัวอ่อนระยะนอเพลียสของโคพีพอด

หน้า  1    2   3    4    5  

อ่านต่อ

 

 ข้อมูลจากหนังสือ: จากยอดเขาถึงใต้ทะเล ฯ เรียบเรียงโดย ศาสตราจารย์ ลัดดา วงศ์รัตน์ แห่งภาควิชาชีววิทยาประมง คณะประมง  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์