-1-

1    2    3   4   5   6   7   8

 
 

                  คำว่า ทะเล (Sea)  และ มหาสมุทร  (Ocean)  หมายถึงแหล่งน้ำเค็มขนาดใหญ่ ซึ่งในทางภูมิศาสตร์ ทะเลเป็นแปล่งน้ำเค็มที่มีขนาดเล็กกว่ามหาสมุทรมาก  และเป็นเพียงส่วนหนึ่งของมหาสมุทรด้วย  ตัวอย่างเช่น ทะเลอันดามันอยู่ในมหาสมุทรอินเดีย ทะเลจีนใต้ อยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิก
          ถ้าเรามองดูโลกจากยานอวกาศ  จะพบว่าโลกมีลักษณะเหมือนกับลูกกลมๆ  ที่มีสีขาวและน้ำเงิน  สีขาวคือสีของเมฆ  สีน้ำเงินคือมหาสมุทร  ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ผิวโลกประมาณร้อยละ 71 ส่วน ที่เหลือเป็นผืนดินในทวีปต่างๆ อย่างไรก็ดี ผืนน้ำบนผิวโลกส่วนใหญ่จะปรากฏอยู่ทางซึกโลกใต้  ส่วนผืนดินจะอยู่ทางซีกโลกเหนือเป็นส่วนใหญ่
          ในแต่ละมหาสมุทรจะปรากฏทะเลอยู่เสมอ  ความลึกของมหาสมุทรนับว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับเส้นผ่าศูนย์กลางของโลก  จึงทำให้น้ำในมหาสมุทรมีลักษณะเหมือนเปลือกส้มบางๆ ที่ห่อหุ้มผลส้ม  แต่ด้วยเปลือกส้มบางๆ นี้เอง  ที่เป็นแหล่งกำเนิดของสิ่งมีชีวิตซึ่งวิวัฒนาการมาจากอดีตจนถึงปัจจุบัน  และเป็นแหล่งอาหาร พลังงาน แร่ธาตุต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติอย่างมากมาย

         
  จุดกำเนิดของมหาสมุทรและน้ำทะเล
          จากทฤษฎีที่เป็นที่ยอมรับกันนั้นเชื่อว่า แอ่งมหาสมุทรและน้ำทะเลเกิดขึ้นมาพร้อมๆ กับการกำเนิดของโลกเราเมื่อประมาณ 4.5 พันล้านปีที่ผ่านมา  และเชื่อว่า ในขณะที่โลกเริ่มมีบรรยากาศขึ้นมาใหม่ๆ ไอน้ำที่กลั่นตัวอยู่ในบรรยากาศจะรวมตัวกันแน่นเป็นฝน  แล้วตกลงมาเป็นน้ำในมหาสมุทร ซึ่งประมาณการว่ามีน้ำจากบรรยากาศอยู่ประมาณร้อยละ 16  ของน้ำในปัจจุบัน ส่วนน้ำที่เหลือนั้นเชื่อว่า  ได้มาจากน้ำที่อยู่ในหิน โดยเฉพาะในหินซิลิเกตและฮาโลเจน เช่น คลอไรด์และฟลูออไรด์  เมื่อเปลือกโลกแข็งและหดตัวแล้ว  น้ำที่อยู่ในหินนี้ถูกปลดปล่อยออกมากระทบกับผิวโลกที่ยังมีความร้อนสูง  จึงกลายเป็นไอน้ำขึ้นไปในบรรยากาศและตกลงมาเป็นฝน เมื่อโลกเย็นลง  น้ำที่อยู่ภายในหินก็ยังออกมาสู่ทะเล จากการระเบิดของภูเขาไฟ  พุน้ำร้อน และอื่นๆ ขบวนการเหล่านี้จะค่อยๆ ปล่อยน้ำออกมาจนเกิดเป็นแอ่งในมหาสมุทร ดังที่เราเห็นอยู่ในปัจจุบัน
         น้ำทะเลในมหาสมุทรในระยะเริ่มแรกมีส่วนประกอบคล้ายคลึงกับปัจจุบันมาก  แต่เชื่อว่าเมื่อหลายล้านปีที่ผ่านมา มีการเพิ่มเกลือลงไปในน้ำทะเลอีกโดยขบวนการสึกกร่อน เนื่องมาจากปฏิกิริยาเคมีกับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์รวมตัวกับน้ำเกิดเป็นกรดคาร์บอนิค กัดกร่อนหินต่างๆ บนพื้นโลก
 

 

            ระดับน้ำทะเลจากอดีตสู่ปัจจุบัน
          เมื่อเราสังเกตระดับน้ำทะเลริมฝั่งจะเห็นว่า  ระดับน้ำทะเลมีการขึ้นลงตามช่วงเวลาน้ำขึ้นน้ำลง  และมีลมพัดผ่านผิวทะเลอยู่เสมอ อย่างไรก็ดีค่าเฉลี่ยของระดับน้ำทะเลสัมพันธ์กับจุดกำหนดบนพื้นดิน  ไม่ว่า ณ จุดใดจะมีค่าค่อนข้างคงที่ ซึ่งจะคงที่เป็นระยะเวลานานหลายปี  จนสามารถนำไปใช้เป็นระดับอ้างอิงได้ ค่าเฉลี่ยนี้เรียกว่า  ระดับน้ำทะเลปานกลาง ( ร.ก.ท.)  ซึ่งในประเทศไทยผู้ทำหน้าที่ศึกษา วัดระดับน้ำ และเก็บข้อมูล เพื่อกำหนดค่า  ร.ท.ก. นี้ คือ กรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ
          แต่ถ้ามองช่วงเวลาทางด้านธรณีวิทยา นับเป็นล้านๆ ปีแล้ว จะพบว่า ระดับน้ำทะเลปานกลางมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ดังเช่นกรณีการพบโครงกระดูกและฟันของสัตว์พวก Mammoth  และ ไดโนเสาร์ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยอาศัยอยู่บนบก ณ บริเวณชายฝั่งทะเลในทวีปอเมริกา และยุโรป แสดงให้เห็นว่าระดับน้ำทะเลในปัจจุบันสูงกว่าในอดีต
          การสูงขึ้นของระดับน้ำทะเลเชื่อกันว่า  เกิดขึ้นจากการละลายของน้ำแข็งเมื่อประมาณ 20,000 ปีที่ผ่านมา  ซึ่งอยู่ในยุคน้ำแข็งสุดท้ายในช่วง 1 ล้านปี  ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นมาประมาณ  120 เมตร หรือ 400 ฟุต ในช่วงเวลา 6,000 - 15,000 ปี ระดับน้ำทะเลค่อยเพิ่มขึ้นประมาณปีละ 1 นิ้ว  หลังจากนั้นระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขั้นประมาณ 0.05 นิ้วต่อปี

 

อ่านต่อ