กลับหน้าหลัก

HOME

      หน้า  1   2   3   4   5   6

แม่เล่าให้ฟัง
พระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

คัดมาบางส่วนเพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติใน "วันแม่"

 

ญาติทางพ่อ

            ปู่ของแม่ชื่อชุ่ม  ย่าชื่ออะไรไม่ทราบ  แม่ไม่เคยรู้จักทั้งสองท่าน ปู่ชุ่มและย่ามีลูกที่แม่รู้จัก ๓ คน  คนโตคือพ่อซึ่งชื่อชู  คนรองเป็นหญิงชื่อจาด  อาจาดของแม่แต่งงานกับคนจีนที่ทำการค้าขายและได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหลวงสโมสรฯ  อาจาดและสามีไปอยู่เมืองจีนเสียนาน  เมื่อแม่เป็นเด็กไม่เคยรู้จัก เมื่อแม่เป็นผู้ใหญ่แล้วอาจาดและสามีได้มาหาที่วังสระปทุมและได้นำขันถมมาให้ด้วย  แม่บอกว่าด้วยเหตุที่อยู่เมืองจีนเสียนานมาก  อาจาดพูดไทยไม่ชัดซึ่งแม่เห็นว่าเป็นเรื่องที่ตลก อาจาดและหลวงสโมสรฯ มีลูกชายคนหนึ่งชื่อชื่น เป็นพ่อค้าสุรา ครั้งหนึ่งท่านผู้หญิงดุษฎี มาลากุล ได้พาชื่นมาหาแม่ และชื่นได้บริจาคเงินโดยเสด็จพระราชกุศลจำนวนหนึ่ง  ลูกคนที่สามของปู่และย่าของแม่เป็นชายชื่อสอน  มีลูกอย่างน้อยหนึ่งคน ซึ่งมาขอทำงานเมื่อแม่อยู่วังสระปทุม ปู่มีภรรยาอื่นนอกจากย่า เท่าที่รู้จักและจำได้ แม่มีป้าอีกหนึ่งคนและอาหญิงอีกหนึ่งคน

ญาติทางแม่

             ญาติของแม่บางคนเล่าว่าครอบครัวมาจากเวียงจันทน์ แม่บอกว่าอาจเป็นได้ เพราะที่บ้านชอบรับประทานข้าวเหนียว  ตาของแม่ชื่ออะไรไม่ทราบ  ยายชื่อผา พ่อและแม่ของยายผามีลูก ๖ คน คนโตเป็นชายชื่อคลี่ มีลูกหลานหลายคน ยายผาเป็นลูกคนสุดท้อง ตาและยายผามีลูก ๕ คน คนแรกชื่อมา  ซึ่งแต่งงานกับเจียม  มีนาที่มีนบุรี  และฐานะดีพอใช้ แต่ลูกหลานผลาญหมด ป้ามาของแม่มีลูก ๓ คน ปุ้ย (หญิง) แช่ม (ชาย) และช้อย (หญิง) สามีของปุ้ยเป็นผู้ดูแลเรือนจำมีนบุรี ต่อมาแม่ได้อุปการะลูกของปุ้ย ๓ คน ในจำนวน ๕ คนที่มี  แช่มมีลูก ๔ คน ซึ่งแม่รับมาเลี้ยงทุกคน พร้อมกับให้แช่มมาอยู่ในวังสระปทุม  คนโตเรียนการเกษตรที่ฟิลิปปินส์ และได้เป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คนที่ ๒ เป็นแพทย์ที่โรงพยาบาลกลาง แต่บัดนี้ถึงแก่กรรมแล้ว คนที่ ๓ คือคุณหญิงบุญเรือน ชุณหะวัณ คนที่ ๔ เดิมชื่อทุเรียน ตามที่เชื่อกันว่าถ้าตั้งชื่อไม่เพราะๆให้เด็กที่ไม่แข็งแรง ผีจะไม่มาเอาตัวไป แต่เมื่อแม่เอาไปเลี้ยงให้เปลี่ยนชื่อเป็นอำไพ ช้อยมีสามีคนเดียวกันกับปุ้ย และมีลูก ๑ คน ซึ่งแม่ได้เลี้ยงขณะหนึ่ง ลูกคนที่ ๒ ของยายผาชื่อ ไข (หญิง) มีลูก ๔ คน ใย (ชาย) ชม (หญิง) พร (หญิง) และชุ่ม (ชาย) แม่เคยเลี้ยงลูกของใย ๒ คน ลูกคนที่ ๓ ของยายผาชื่อ ดี (ชาย) ไม่มีครอบครัว ลูกคนที่ ๔ ของยายผาชื่อซ้วย (หญิง) เคยมีสามีแต่ไม่มีลูก ลูกคนที่ ๕ ของยายผาชื่อคำ ซึ่งเป็นแม่ของแม่

ที่เกิด

             ผู้ใหญ่ได้เล่าให้แม่ฟังว่า แม่เกิดที่นนทบุรี วันอาทิตย์ที่ ๒๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๔๓  ปีชวด ตรงกับ ค.ศ.๑๙๐๐  ต่อไปข้าพเจ้าจะใช้ ค.ศ. ควบไปกับ พ.ศ. เพราะจะทำให้ทราบอายุแม่ได้อย่างเร็ว เช่นถ้าพูดถึงปี พ.ศ.๒๔๕๓ (ค.ศ.๑๙๑๐) จะทราบได้ทันทีว่าแม่อายุได้ ๑๐ ปี  ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ตั้งชื่อให้ว่า "สังวาลย์" ในสมัยนั้นยังไม่มีนามสกุล  จะมีพระราชบัญญัติขนานนามสกุลในปี พ.ศ.๒๔๕๖  การใช้คำว่า "เด็กชาย" หรือ "เด็กหญิง" ก็ยังไม่มีจนกระทั่งมีพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยคำนำนามเด็ก ๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๖๔ อันที่จริงพระราชกฤษฎีกานี้ได้ทรงยกเลิกเดือนเศษภายหลัง เพราะ "มิได้ให้คุณความสะดวกสมพระราชประสงค์ แต่ตรงกันข้ามกลับเป็นเครื่องทำให้เปลืองเวลาและความคิดของข้าแผ่นดิน "  ถึงอย่างไรก็ดีทางราชการก็ยังได้ใช้ต่อมาในราชกิจจานุเบกษา การพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๖ ทรงมีพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยคำนำนามเด็ก พ.ศ.๒๔๖๔ นี้ขึ้นมาเป็นเพราะว่าทรงมีพระราชดำริว่า "คำว่า "คุณ" ไม่ควรใช้พร่ำเพรื่อฟั่นเฝือ " ส่วนคำว่า "หนู" นั้น ทรงมีพระราชดำริต่อไปว่า "เป็นศัพท์ที่เพี้ยนมาจากภาษาจีว่า "อินู" ไม่สมควรใช้สำหรับเป็นคำนำนามเด็กที่เป็นเชื้อชาติสยามแท้" ("อินู" ภาษาจีนแปลว่า"ทาส")
             สำหรับผู้ชายนั้นคำว่า "นาย" มีอยู่แล้ว แต่คำว่า "นาง" และ "นางสาว" ยังไม่ได้ใช้จนถึงมีพระราชกฤษฎีกาให้ใช้คำนำนามสตรี พ.ศ. ๒๔๖๐  จำใช้คำว่า "อำแดง" ซึ่งมิได้กำหนดว่าจะต้องเป็นโสดหรือไม่ แต่คนทั่วๆไปมักเข้าใจว่า "อำแดง" หมายถึงหญิงที่แต่งงานแล้วเท่านั้น
             แม่จึงชื่อสังวาลย์เฉยๆ ในการพูด หญิงไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่จะเรียกกันว่า "แม่" เช่น "แม่พลอย" ชายจะใช้คำว่า "พ่อ"
             มีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่นนทบุรี  คือครั้งหนึ่งแม่คำไปกินเห็ดเมาเข้า แม่เลยป่วยไปด้วยเพราะยังกินนมแม่อยู่