กลับหน้าหลัก

HOME

      หน้า  1   2   3   4   5   6

แม่เล่าให้ฟัง
พระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

คัดมาบางส่วนเพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติใน "วันแม่"

 

บ้าน

             เมื่อจำความได้แม่ก็อยู่ที่ธนบุรีแล้ว ที่ซอยซึ่งปัจจุบันเป็นซอยวัดอนงค์ "บ้าน" นั้นเหมือนห้องแถวชั้นเดียวแต่มีหลายห้อง แทนที่จะเป็นห้องเดียว "บ้าน" จะเป็นส่วนหนึ่งของอาคารซึ่งก่อด้วยอิฐ หลังคาเป็นกระเบื้อง และประกอบด้วยหลายชุด (Unit) ด้านหนึ่งของบ้าน มี ๔-๕ ชุด ซึ่งมีคนอยู่ อีกด้านหนึ่งพังไปแล้วและร้าง "บ้าน" ที่อยู่นั้นเก่าพอใช้และอยู่ในสภาพไม่ดีเพราะไม่มีการซ่อมแซมเลย บ้านนั้นเป็นบ้านเช่าแต่เช่าเพียงกำแพง ผนัง และหลังคา ทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นไม้ เช่น พื้นนั้นผู้เช่านำมาเอง
             "บ้าน" อยู่ระหว่างบ้านพ่อชูและวัดอนงคาราม เดินสัก ๕ นาทีก็ถึงวัด และ ๑๐ นาทีก็ถึงบ้านเก่าของพ่อชู ข้างหน้าบ้านมีระเบียง พื้นเป็นไม้ปิดข้างๆ และมีหลังคามุงจาก ส่วนนอกก่อนถึงถนนเป็นอิฐแล้วจึงเป็นถนน  เมื่อเข้าไปในบ้านแล้วจะมีห้องโล่งๆ ด้านขวามียกพื้นซึ่งเป็นทั้งห้องพระและห้องประกอบอาชีพของพ่อแม่ ทุกเช้าผู้ใหญ่จะถวายข้าวพระพุทธรูป และหลังเที่ยงแม่จะเป็นผู้สวด "เสสังมังคะลังยาจามิ" เพื่อลาของถวายและนำอาหารที่บรรจุอยู่ในถ้วยชามเล็กๆ มากิน ถัดไปมีห้องซึ่งเป็นห้องนอนและข้างหลังจะมีห้องครัวยาวตลอดซึ่งกั้นด้วยกำแพง หลังกำแพงนี้มีที่โล่งๆ ซึ่งจะไปถึงได้ถ้าอ้อมไป เพราะทางครัวไม่มีประตูออก ในบ้านไม่มีห้องน้ำ การอาบน้ำนั้นอาบกันที่หน้าบ้าน  ตุ่มน้ำตั้งอยู่ที่ระเบียง หรือไปอาบที่คลองสมเด็จเจ้าพระยา ถึงแม่จะว่ายน้ำไม่เป็นก็ชอบเล่นน้ำที่คลอง ครั้งหนึ่งแม่คำไม่อยากให้ไปแต่แม่อ้อนวอนจนยอม แต่สั่งว่าจะบ้วนน้ำหมากลงพื้น ถ้ากลับมาเมื่อน้ำหมากแห้งแล้วจะถูกตี  แม่ก็สามารถไปเล่นน้ำอย่างเร็วพอที่จะไม่ถูกตี ผู้ใหญ่บอกว่าในน้ำมีสัตว์ร้าย ก่อนลงน้ำแม่จะต้องสวด "นโมนมัส กำจัดออกไป อย่าเข้ามาใกล้ เสมามณฑล ออกไปให้พ้น วินาศสันติ"
             สำหรับส้วมนั้นก็ไม่มีในบ้าน  ต้องไปที่ตึกร้างซึ่งอยู่ถัด "บ้าน" ไป หรือที่ห้องน้ำสาธารณะซึ่งเป็นกระต๊อบไม้บนคลอง และนับว่าเป็นห้องน้ำที่สะอาดและไม่มีกลิ่น

ผู้ที่พักอาศัยอยู่ที่ "บ้าน"

             ครอบครัวของพ่อของแม่และครอบครัวของแม่ของแม่ไม่ไปมาหาสู่กัน  เหตุที่ไม่ถูกกัน คงเป็นเพราะครอบครัวของพ่อชูฐานะดีกว่า และอาจเป็นเหตุที่ไม่พอใจกัน เมื่อพ่อชูมาแต่งงานกับแม่คำ
           -  พ่อชู  ถึงแก่กรรมเมื่อแม่ยังเล็กมาก แม่จำได้เพียงครั้งเดียว วันหนึ่งพ่อชูบอกให้แม่ไปนอนกลางวัน แม่ไม่ทำตามคำสั่งทันที พ่อชูจึงหยิบไม้มาเพื่อตี แม่คำรีบมาห้ามไม่ให้ตี
           -  แม่คำ  มีชีวิตอยู่จนถึงแม่จาก "บ้าน" ไป จะกล่าวถึงภายหลัง
           -  ลุงดี  ผู้ใหญ่เล่าว่า เคยมีพี่ชายของแม่คำซึ่งไม่มีครอบครัวอาศัยอยู่ด้วยอีกคนคือ ลุงดี แต่ถึงแก่กรรมเสียก่อนที่แม่จะจำความได้
           -  ป้าซ้วย  เป็นพี่สาวของแม่คำ จะมีชีวิตอยู่อีกนานและจะกล่าวถึงโดยเฉพาะภายหลัง
           - ยายผา  ยายของแม่แก่และหูออกจะตึง  แต่ถ้าใครว่าก็ได้ยินทันที ยายผามีชีวิตอยู่จนถึงแม่กลับมาแต่งงานและถึงแก่กรรมเมื่อแม่ไปอเมริกาครั้งที่สอง
        

พี่น้อง 

             พ่อชูและแม่คำมีลูก ๔ คน คนโตเป็นหญิง แม่จำไม่ได้เลย คนที่สองเป็นชาย แม่จำได้นิดหน่อย คนที่สามคือแม่  คนที่สี่เป็นชายชื่อถมยา ถมยาอ่อนกว่าแม่ ๒ ปี ผู้ใหญ่เล่าว่า เมื่อเกิดร่างกายปกติ แต่ตั้งแต่แม่จำความได้ ถมยาก็หลังค่อม แม่เป็นผู้เริ่มสอนให้ถมยาอ่านหนังสือ ถมยาไปวิ่งเล่นในวัดอนงค์ และต่อมาเป็นลูกศิษย์ของอาจารย์อ่ำ พระวัดอนงค์ และเรียนหนังสือกับอาจารย์ด้วย ถมยาไม่ได้ไปโรงเรียนจนอายุ ๑๘ ปี เพราะครอบครัวจนเกินไปที่จะออกค่าเล่าเรียนให้ได้ แต่ก็อ่านหนังสือออก เมื่อแม่กลับมาแต่งงาน ถมยาได้มีโอกาสเข้าโรงเรียนบ้านสมเด็จและภายในไม่กี่ปีก็สำเร็จมัธยมปีที่ ๘  เมื่ออายุ ๒๓-๒๔ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศอดุลยเดชวิกรมพระบรมราชชนก (ต่อไปนี้จะเรียกทูลหม่องฯ) ได้ส่งถมยาไปที่โลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยหวังว่าอากาศและแพทย์จะรักษาร่างกายให้แข็งแรงด้วย ถมยาอยากเรียนแพทย์ นอกจากเรียนภาษาฝรั่งเศส จึงเรียนภาษาลาตินอีก โดยบังเอิญเมื่อข้าพเจ้าไปเข้าโรงเรียนรัฐบาลที่โลซานน์ ๘-๙ ปีภายหลังข้าพเจ้ามีครูภาษาลาติน ชื่อมาดมัวแซล บรัว (Mlle Broye) ครูคนนี้เมื่อทราบว่าข้าพเจ้าเป็นคนไทย เล่าให้ฟังว่าท่านเคยมีลูกศิษย์ไทยคนหนึ่งที่มาเรียนภาษาลาติน มาดมัวแซล บรัว บอกว่าหนุ่มคนนี้เป็นลูกศิษย์ที่ฉลาด  ขยันและเรียนเร็วที่สุดที่เคยมี แต่น้าถมยาก็ไม่มีโอกาสจะเป็นหมออย่างที่ต้องการ หลังจากที่ไปอยู่โลซานน์ประมาณ ๓ ปี ก็ถึงแก่กรรมด้วยโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ (Meningitis)