กลับหน้าหลัก

HOME

      หน้า  1   2   3   4   5   6

แม่เล่าให้ฟัง
พระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

คัดมาบางส่วนเพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติใน "วันแม่"

 

เรียนพยาบาล

            แม่เข้าโรงเรียนแพทย์ผดุงครรภ์และหญิงพยาบาลแห่งศิริราช เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๖ (ค.ศ.๑๙๑๓) คือเมื่ออายุเกือบ ๑๓ ปี ไม่ได้เข้าตอนต้นปีการศึกษา แม่เป็นนักเรียนที่มีอายุน้อยที่สุดของรุ่นนั้นและรุ่นต่อมาอีก
            นักเรียนพยาบาลทุกคนจะอยู่ด้วยกันในเรือนๆ หนึ่ง ซึ่งชั้นบนเป็นห้องนอนและชั้นล่างเป็นห้องเรียน ต่อมาเมื่อมีนักเรียนมากขึ้น ทั้งสองชั้นกลายเป็นห้องนอนและห้องเรียนย้ายไปอยู่เรือนใหม่ การเยนปีแรกเป็นการเรียนทฤษฎีกับครูซึ่งเป็นแพทย์ ปีที่ ๒ และปีที่ ๓ เป็นการฝึกงานภายใต้การควบคุมของนางพยาบาล ในปีที่ ๒ ของรุ่นของแม่ต้องเข้าไปฟังภาคทฤษฎีกับปีที่ ๑ ของรุ่นต่อไปอีกที การเรียนซ้ำโดยนั่งฟังอยู่เฉยๆ ท้ายชั้นแม่เห็นว่าน่าเบื่อ จึงเอาลูกโป่งไปเป่าเล่น แต่ครั้งหนึ่งลูกโป่งก็แตกในกลางชั้น การเรียนของแม่เป็นไปด้วยดี เพราะแม่เขียนและอ่านได้อย่างดี และงานปฏิบัติก็ทำได้อย่างคล่องแคล่ว แต่แม่ยังเด็กมากและชอบเล่นชอบวิ่งอยู่ ครั้งหนึ่งแม่ต้องไปช่วยในการคลอดลูก คนต้องไปตามตัวลงมาจากต้นมะม่วง อีกครั้งหนึ่งถึงเวลาที่จะเข้าไปพยาบาลคนไข้ เมื่อคนไข้คนนั้นเห็นหน้าอันเด็กเหลือเกินของผู้ที่จะมาพยาบาลตนก็อดที่จะร้องไห้ไม่ได้ บางปีตอนปลายปีการศึกษาจะมีการถ่ายรูปเพื่อแลกเปลี่ยนกัน ส่วนเสื้อผ้านั้นก็ยืมกันใส่ถ่าย อัลบั้มรูปถ่ายเล่มแรกของแม่เต็มไปด้วยรูปครูและเพื่อนนักเรียนพยาบาล
             เมื่อเรียนพยาบาลอยู่ มีเพื่อนเรียนคนหนึ่งชื่อเนื่อง จินตดุล ซึ่งข้าพเจ้าจะกล่าวถึงอีกภายหลัง แม่เนื่องอายุมากกว่าแม่รอบกว่า เวลานั้นแม่ชอบแกล้งแม่เนื่องบ่อยๆ โดยมากแม่เนื่องนั่งข้างหลังแม่ ครั้งหนึ่งแม่หันไปหยิบขวดหมึกของแม่เนื่องออกไปเสีย แม่เนื่องก็จิ้มปากกาลงไปบนโต๊ะ วันหนึ่งแม่หลอกแม่เนื่องไปที่ก๊อกน้ำในสวน แล้วก็ไขน้ำรดขา อีกครั้งหนึ่งแม่เอากระดาษม้วนๆ มาพันตัวแม่เนื่องเป็นสไบ ครูมาเห็นเข้าแทนที่จะดุแม่ดุเอาแม่เนื่อง ถึงอย่างไรก็ดี แม่รักแม่เนื่องและช่วยลอกตำราให้บ่อยๆ เพราะแม่เนื่องเขียนไม่ค่อยทัน
             เมื่อเรียนจบหลักสูตร ๓ ปีแล้ว ในปี พ.ศ. ๒๔๕๙ (ค.ศ.๑๙๑๖) แม่ก็ยังอยู่ที่ศิริราชต่อไปอีก จะกลับไปที่บ้านพระยาอำรงฯ เป็นบางครั้ง เช่นในวันหยุด

ได้ไปสหรัฐอเมริกา

             ในเวลานั้น พ.ศ.๒๔๖๐ (ค.ศ.๑๙๑๗) ทูลหม่อมฯ ประทับอยู่ที่อเมริกา ทรงศึกษาวิชาเตรียมแพทย์มาแล้วปีหนึ่ง และกลังทรงศึกษาวิชาแพทย์ปีที่หนึ่งอยู่ในมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เมดิคัล สกูล (Harvard Medical School) เมืองบอสตัน รัฐแมสสาชูเสตต์ ประทับห้องชุด (แฟลต) อยู่พระองค์เดียว ที่ ๓๒๙ ถนนลองวู้ด จึงต้องพระประสงค์มหาดเล็กมารับใช้และในขณะเดียวกันจะให้เรียนหนังสือด้วย ทูลหม่อมฯ ทรงแจ้งกพระประสงค์กับพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ กรมหมื่นไชยนาทนเรนทร (พระยศเวลานั้น ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๖๕ กรมขุนไชยนาทนเรนทร  พ.ศ.๒๔๙๓ กรมพระฯ  พ.ศ. ๒๔๙๔ สมเด็จกรมพระยาฯ ) พระโอรสในรัชกาลที่ ๕ ซึ่งสมเด็จพระพันวัสสาฯ ทรงเคยเลี้ยงเหมือนกับพระโอรสแท้ๆ ตั้งแต่ทรงพระเยาว์ หลังจากที่เจ้าจอมมารดา ม.ร.ว.เนื่อง สนิทวงศ์ ได้ถึงแก่อนิจกรรม เมื่อพระชันษาเพียง ๑๑ วันเท่านั้น  เวลานั้นเสด็จเสด็จในกรมไชยนาทฯ ทรงดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมสาธารณสุขในกระทรวงมหาดไทย จึงทรงดำริที่จะส่งนักเรียนแพทย์ ๒ คน ซึ่งจะให้เป็นนักเรียนทุนของทูลหม่อมฯ และนักเรียนพยาบาล ๒ คน ซึ่งจะให้เป็นนักเรียนทุนของสมเด็จพระพันวัสสาฯ นักเรียนแพทย์ ๒ คน ที่ได้รับเลือกคือ นายลิ ศรีพยัตต์ (หลวงลิปิธรรมศรีพยัตต์) และนายนิตย์ เปาวเวทย์ (หลวงนิตย์เวชชวิศิษฐ์) ซึ่งเรียนแพทย์อยู่แล้วแต่ยังไม่จบ สำหรับนักเรียนพยาบาลนั้น เสด็จในกรมไชยนาทฯ ทรงเลือกผู้ที่เป็นข้าหลวงทูลหม่อมหญิงฯ และสมเด็จพระพันวัสสาฯ วันหนึ่งเสด็จในกรมไชยนาทฯ ไปที่โรงพยาบาลศิริราชและทรงเรียกให้แม่ไปเฝ้า ทรงถามว่าอยากไปเรียนเมืองนอกไหม แม่เล่าว่าจำความรู้สึกตอนนั้นได้ว่าอยากไปเหลือเกิน นักเรียนทุนหญิงอีกคนหนึ่ง คือ อุบล ปาลกวงศ์ ณ อยุธยา ซึ่งขณะนั้นเป็นนักเรียนพยาบาลอยู่ อายุมากว่าแม่ ๑ เดือน แต่ยังเรียนพยาบาลไม่จบ

การเตรียมตัว

             ในระยะ ๕- ๖ เดือนก่อนที่จะออกเดินทางไปสหรัฐฯ แม่ต้องเตรียมเสื้อผ้าและเรียนภาษาอังกฤษที่โรงเรียนวังหลัง โดยยังค้างอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราช แม่เคยเรียนภาษาอังกฤษมาเล็กน้อยที่โรงเรียนพยาบาลแต่เป็นขนาด " เอ บี แอ๊บ"  เมื่อเรียนที่โรงเรียนวังหลังนี้แม่จะต้องอ่านเรื่องสั้นๆ แล้วย่อเป็นภาษาอังกฤษ ครั้งหนึ่งเป็นเรื่องคนจีนที่เดินทางไปประเทศอังกฤษ เมื่อถึงเวลาย่อแม่ไม่รู้จักคำว่าเดินทาง เลยต้องเขียนว่า "คนจีนไปปิ๊กนิกที่อังกฤษ"
             ในสมัยนั้นที่เมืองไทยยังไม่ได้ใช้นามสกุลอย่างแพร่หลายดังที่กล่าวแล้ว ในเวลานั้นแม่ไม่มีผู้ใหญ่ชายทางครอบครัวพ่อ จึงไม่มีใครไปจดนามสกุล เมื่อไปต่างประเทศจำเป็นที่จะมีนามสกุลในหนังสือเดินทาง ผู้ที่ไปกันก่อนบางท่านจะถูกเรียก มิสเตอร์ นาย...(
Mr.Nai...) เช่น พระยาศัลวิธานนิเทศ เป็นมิสเตอร์ นายแอบ (Mr.Nai Aab) (ในสมัยนั้นชื่อนายแอบ) เมื่อไปศึกษาที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ในสหรัฐอเมริกา ในปี พ.ศ.๒๔๕๑ ยังไม่มีการใช้หนังสือเดินทาง * และนามสกุล  การติดต่อระหว่างมหาวิทยาลัยและทางราชการกรุงเทพฯ คงใช้ นายแอบ (Nai Aab) เขาก็ลงทะเบียนถือเอาคำหลังเป็นชื่อสกุล (จากบันทึกของพระยาศัลวิธานฯ ) สมัยนั้นคงมีคนที่ชื่อ "นาย" หลายคน เมื่อแม่ไม่มีนามสกุลก็จำเป็นต้องหาให้ แม่จึงได้ใช้นามสกุลของข้าราชบริพารที่มีนามสกุลคนหนึ่ง ผู้นั้นคือ เจ้ากรมหลี ตะละภัฎ ขุนสงขลานครินทร์ เจ้ากรมของทูลหม่อมฯ เจ้านายที่ทรงกรมคือ เป็นกรมขุน หลวง ฯลฯ จะทรงมี "เจ้ากรม" ซึ่งจะมีบรรดาศักดิ์ตามเจ้านายของตน เมื่อหลังจากสิ้นพระชนม์แล้ว ทูลหม่อมฯ ได้เป็นกรมหลวงสงขลานครินทร์ ขุนสงขลานครินทร์ก็เลื่อนเป็นหลวงสงขลานครินทร์ ส่วนถมยา น้องชายของแม่ เมื่อเจริญวัยแล้ว ได้ไปขอจดทะเบียนที่อำเภอใช้นามสกุล "ชูกระมล" ถึงแม้ว่าแม่ไม่เคยใช้นามสกุลชูกมล ก็อยากจะถือว่าแม่เกิดมาในสกุลนี้


* หนังสือเดินทางเริ่มใช้ในปี พ.ศ. ๒๔๕๓ (ค.ศ.๑๙๑๐) เขียนเป็น ๔ ภาษา ภายหลังการประชุมสันนิบาตชาติ ( League of Nations ) เรื่องหนังสือเดินทาง (Passport) เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๙ (ค.ศ.๑๙๒๖) ได้กำหนดให้ทุกประเทศใช้หนังสือเดินทางเป็น ๒ ภาษา สำหรับไทยใช้ ไทย-ฝรั่งเศส จนถึง พ.ศ.๒๕๑๙ เปลี่ยนเป็นใช้ ไทย-อังกฤษ (ข้อความจาก อาจิณ จุลศิริวงศ์ โดยหนังสือสราญรมย์)