คำนำ I ประวัติความเป็นมา I ป่าชายเลนจังหวัดเพชรบุรี I พันธุ์ไม้ที่ปลูก I คุณภาพดิน I คุณภาพน้ำ I ชนิดของสัตว์ I สาหร่ายและหญ้าทะเล

 
  คุณภาพดิน :

        ในการศึกษาระบบนิเวศน์และสิ่งแวดล้อม บริเวณสวนป่าชายเลนทูลกระหม่อม ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำรินั้น การศึกษาองค์ประกอบทางกายภาพและทางเคมีของดินตะกอน นับว่าเป็นหัวข้อสำคัญอย่างหนึ่งที่จะมองข้ามไปไม่ได้ เนื่องจากคุณดินจัดเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่ง ที่ยังผลทั้งทางตรงและทางอ้อมแก่พันธุ์ไม้ต่างๆ ที่ทำการปลูกในสวนป่าแห่งนี้ พื้นดินที่มีความสมบูรณ์และมีองค์ประกอบของธาตุอาหารที่มีความจำเป็นต่อพืชในปริมาณที่เหมาะสม จะส่งเสริมให้พันธุ์ไม้ที่ปลูกมีการเจริญเติบโตและพัฒนาได้อย่างมีประสิทธิภาพ  นอกจากนี้แล้ว สภาวะแวดล้อมในดิน อาทิ องค์ประกอบของเนื้อดิน การอุ้มน้ำของดิน ความเป็นกรดเป็นด่าง ปริมาณสารอินทรีย์ในดิน ตลอดจนปริมาณสารประกอบซัลไฟด์ในดิน ก็นับว่าเป็นปัจจัยแวดล้อมที่สำคัญที่ส่งผลทางอ้อมต่อการเจริญเติบโตและการพัฒนาของระบบรากของพันธุ์ไม้ชนิดต่างๆ อีกด้วย
          การศึกษาวิจัยคุณภาพดินในบริเวณสวนป่าชายเลนแห่งนี้จึงได้ดำเนินการขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อประเมินความเหมาะสมของดิน ทั้งทางด้านกายภาพและทางเคมีที่มีต่อการเจริญเติบโตและการพัฒนาของพันธุ์ไม้ในบริเวณสวนป่า นอกจากนี้แล้ว ผลการศึกษายังสามารถนำมาใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานเพื่อประเมินอิทธิพลของการปลูกป่าชายเลนต่อการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศน์ของดินตะกอนในบริเวณดังกล่าวด้วย

 
 
   

          การสำรวจไดดำเนินการโดยทำการเก็บตัวอย่างดินตะกอนในบริเวณแปลงที่ทำการปลูกพันธุ์ไม้และบริเวณลำคลองโดยรอบ โดยใช้เครื่องมือขุดเจาะดินเก็บดินถึงความลึกประมาณ 20-30 ซม. ซึ่งมีจุดที่ทำการเก็บตัวอย่างตามแผนภาพที่ 4.1
          ตัวอย่างดินตะกอนที่ทำการสำรวจในคลองบางกราน้อย (จุดที่ 1-3) ดินในสวนป่าโกงกาง (จุดที่ 4-8) และดินจากป่าจาก (จุดที่ 9-10) ได้ถูกนำมาวิเคราะห์คุณสมบัติทางกายภาพ ได้แก่ ลักษณะของเนื้อดิน (
texture) และคุณสมบัติทางเคมี ได้แก่ ปริมาณธาตุอาหารในดินที่มีความจำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืช อาทิ ธาตุไนโตรเจน (N)  ฟอสฟอรัส (P)  โปแตสเซียม (K) และแมกนีเซียม (Mg) นอกจากนี้ยังทำการวิเคราะห์หาปริมาณโลหะหนักที่จัดอยู่ในจำพวกธาตุปริมาณน้อย (trace elements)  ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อพืชแต่พืชต้องการในปริมาณน้อย ได้แก่ ธาตุเหล็ก (Fe) แมงกานีส (Mn) ทองแดง (Cu) และ สังกะสี (Zn) และปริมาณโลหะหนักที่จัดอยู่ในจำพวกธาตุที่พืชไม่ต้องการและเป็นสารพิษซึ่งปนเปื้อนในดิน ได้แก่ ตะกั่ว (Pb) และแคดเมียม (Cd) ผลของการวิเคราะห์คุณภาพดินเหล่านี้ ได้แสดงไว้ในตารางที่ 4.1 และตารางที่ 4.2 ตามลำดับ

 
 

   ตาราง 4.1  ค่าความเป็นกรดเป็นด่าง (pH) การนำไฟฟ้า (EC) ปริมาณธาตุอาหาร (nutrient  concentrations) ปริมาณสารอินทรีย์ (organic matter, OM) และลักษณะของเนื้อดิน (texture)

         

                   ตาราง 4.2  ปริมาณโลหะหนักในดิน

 

          ผลการศึกษาพบว่าดินในคลองบางกราน้อยที่ระดับความลึก 20-30 ซม. ประกอบด้วยดินร่วนเหนียวปนทราย (sandy clay loam) เป็นส่วนใหญ่ มีค่าความเป็นกรดเป็นด่างอยู่ในช่วง  6.60-7.80 มีปริมาณอินทรีย์วัตถุ (organic matter) อยู่ในช่วง 0.61-2.7 % และดินมีความเข้มข้นของเกลือปานกลาง นอกจากนี้ยังพบว่าธาตุอาหารและปริมาณโลหะหนักในดินตะกอนบริเวณปลายคลองมีปริมาณสูงและสูงกว่าบริเวณต้นคลองอย่างเห็นได้ชัด ลักษณะดังกล่าวนี้แสดงว่าการไหลของน้ำทำให้ธาตุอาหารและโลหะหนักส่วนใหญ่เกิดการสะสมอยู่ในดินบริเวณปลายคลองนั่นเอง
          คุณภาพดินตะกอนในบริเวณสวนป่าโกงกางที่ระดับความลึกเดียวกัน ประกอบด้วยดินทรายปนดินร่วน (
loamy sand) และดินร่วนปนทราย (sandy loam) เป็นส่วนใหญ่ มีค่าความเป็นกรดเป็นด่างอยู่ในช่วง 6.00 - 8.00 และมีปริมาณอินทรีย์วัตถุอยู่ในช่วง 0.34-0.73 %  ส่วนดินในบริเวณสวนป่าจากซึ่งแยกออกไปนั้น เนื้อดินประกอบด้วยดินปนทรายปนดินร่วนและดินร่วน มีค่าวความเป็นกรดเป็นด่างอยู่ในช่วง 4.30 -7.85 และปริมาณอินทรีย์วัตถุอยู่ในช่วง 0.21-1.78 ๔% สำหรับการแพร่กระจายของธาตุอาหารในสวนป่าทั้ง 2 บริเวณ พบว่า ธาตุโปแตสเซียมและแมกนีเซียมพบอยู่ในปริมาณสูงกว่าธาตุไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และแคลเซียม ส่วนปริมาณโลหะหนักในแต่ละจุดนั้นมีการแพร่กระจายแตกต่างกันออกไป ส่วนใหญ่จะพบเหล็กและแมงกานีสในปริมาณสูง และบางจุดมีปริมาณตะกั่วสูง
          นอกจากการศึกษาเพื่อสำรวจความอุดมสมบูรณ์ของธาตุอาหารในดินและการปนเปื้อนของโลหะหนักแล้ว สภาวะแวดล้อมทางกายภาพและทางเคมีอื่นๆ ได้แก่ ปริมาณน้ำในดิน (
water content)  ปริมาณสารอินทรีย์รวมในดิน (total organic content) และปริมาณสารประกอบซัลไฟด์ในดิน (acid volatile sulfides content) ได้ทำการตรวจวัดในสถานีย่อย a, b, c และสถานี d, e, f ตามลำดับ 

 

การสำรวจการเปลี่ยนแปลงคุณภาพดินตะกอนในแต่ละระดับความลึก

ลักษณะดินตะกอนจากการสำรวจประเภทที่ 1 ลักษณะดินตะกอนจากการสำรวจ ประเภทที่ 2
 

          การสำรวจคุณภาพดินในสถานีดังกล่าวนี้ ดำเนินการโดยการเก็บตัวอย่างดินตะกอน โดยใช้ท่อพลาสติกใส ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 5.3 ซม. เก็บดินเป็นคอลัมน์ทรงกระบอกตามแนวดิ่ง ลึกประมาณ 5-10 ซม. จากการสังเกตพบว่า คอลัมน์ดินที่ได้จากการสำรวจนี้มีลักษณะองค์ประกออบของเนื้อดินและสีของดินซึ่งสามารถจำแนกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ คือ

  • ประเภทที่ 1 :   เป็นคอลัมน์ที่ประกอบด้วยดินเลนค่อนข้างเหลว ซึ่งมีปริมาณน้ำในดินสูง มีเนื้อดินค่อนข้างละเอียด  และสีของดินแยกเป็น 2 ชั้นอย่างเด่นชัด ประกอบด้วยดินสีน้ำตาลอ่อน (oxidizing zone) อยู่บริเวณผิวหน้าชั้นบนจนถึงความลึกประมาณ 0.5-1 ซม. และดินสีดำสนิทในระดับที่ลึกลงไป (reducing zone) ซึ่งมีกลิ่นของก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์

  • ประเภทที่ 2 :  เป็นคอลัมน์ที่ประกอบด้วยดินเหนียวที่มีเนื้อแน่น สีน้ำตาลปนเหลือง ส่วนบนมักมีทรายปะปนอยู่ ส่วนชั้นดินสีดำอาจพบได้บ้างในบริเวณลึก

          คอลัมน์ดินตะกอนที่ได้จากการเก็บตัวอย่าง โดยใช้ท่อพลาสติกใสนี้ ส่วนของหน้าดินที่ระดับความลึก 0-3 ซม. ได้ถูกแยกออกมาและทำการวิเคราะห์คุณสมบัติทางด้านกายภาพและทางเคมีต่างๆ ดังแสดงในตารางที่ 4.3 ผลการศึกษาพบว่า คุณสมบัติดินเหล่านี้มีความสัมพันธ์กับลักษณะทางกายภาพภายนอกที่ตรวจพบ ได้แก่ องค์ประกอบของเนื้อดินและสีของดิน กล่าวคือ ดินที่มีลักษณะเหลวและมีสีดำ (คอลัมน์ประเภทที่ 1) จะมีปริมาณน้ำในดินอยู่ในระดับค่อนข้างสูง (37.89-78.28%) มีปริมาณสารอินทรีย์รวมค่อนข้างสูง (30.49-91.59 มิลลิกรัม/กรัม (น.น.แห้ง))  ซึ่งลักษณะดังกล่าวนี้พบในสถานที่ a, b, c และ d ส่วนดินที่ประกอบด้วยเนื้อดินเหนียวที่มีเนื้อแน่น (คอลัมน์ประเภทที่ 2) ในถานที่ e และ f นั้น จะมีค่าเฉลี่ยของปริมาณน้ำในดิน ปริมาณสารอินทรีย์รวมในดิน และปริมาณสารประกอบซัลไฟด์ในดิน เท่ากับ 25.26% , 28.54 และ 0.006 มิลลิกรัม/กรัม (น.น.แห้ง) ตามลำดับ ซึ่งเป็นค่าที่อยู่ในระดับต่ำกว่ากลุ่มแรกอย่างเด่นชัด

                ตารางที่ 4.3  องค์ประกอบทางกายภาพและทางเคมีอื่นๆ ของดิน

          การศึกษาคุณภาพดินของสวนป่าชายเลน ศูนย์ฯ ห้วยทราย พบว่า ดินตะกอนส่วนผิวบนมีความอุดมสมบูรณ์ในแง่ปริมาณอินทรีย์รวมอยู่ในดรับปานกลางจนถึงระดับค่อนข้างสูง ซึ่งจัดอยู่ในระดับที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืชพันธุ์ทำการปลูก ส่วนดินที่ระดับความลึก 20-30 ซม. นั้น ยังมีความอุดมสมบูรณ์ค่อนข้างต่ำ ขาดธาตุอาหารบางตัว เช่น ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส แคลเซียม และมีปริมาณอินทรีย์วัตถุโดยเฉลี่ยในระดับต่ำด้วย ส่วนปริมาณสารประกอบซัลไฟด์ในดินที่พบค่อนข้างสูงในบางสถานีนั้น อาจก่อให้เกิดสภาวะความเป็นกรดและส่งผลกระทบต่อการพัฒนาระบบรากตลอดจนการเจริญเติบโตของพืชพันธุ์ได้บ้าง สำหรับการที่มีการสะสมของธาตุอาหารและโลหะหนักบางชนิดในบริเวณลำคลองโดยรอบนั้น อาจเกิดเนื่องจากการที่บริเวณนั้นเป็นที่รองรับน้ำเสียจากแหล่งชุมชน อย่างไรก็ตาม สาเหตุของการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ยังไม่สามาถสรุปได้ชัดเจน เนื่องจากขาดข้อมูลคุณภาพน้ำก่อนที่จะไหลลงสู่พื้นที่สวนป่า อีกทั้งการศึกษานี้อยู่ในระยะเริ่มแรก ดังนั้น การศึกษาวิจัยครั้งต่อไปจะดำเนินการวางแผนการเก็บตัวอย่าง เพื่อให้ได้ข้อมูลเปรียบเทียบทั้งทางด้านอัตราการเจริญเติบโตของพืชพันธุ์และข้อมูลทางคุณภาพน้ำ ควบคู่กับการประเมินความเหมาะสมของคุณภาพดินและการศึกษาอิทธิพลของการปลูกป่าชายเลนต่อระบบนิเวศน์ของดินตะกอนในบริเวณดังกล่าวด้วย

 
นักวิชาการเก็บตัวอย่างดินในป่าจาก
 
...................  
ที่มาของข้อมูล : หนังสือสวนป่าชายเลนทูลกระหม่อม (เล่ม 1 การศึกษาวิจัยเบื้องต้น)จัดทำโดย สำนักงาน กปร.  

 

ชมรมนักชีววิทยา อพ.สธ.  สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ. สวนจิตรลดา เขตดุสิต กทม.
โทร. 02-2821850, 02-2820665  หรือ  Email :
bio_club@rspg.org